วว. ผนึกกำลัง KUST ประเทศจีน จัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีนานาชาติ
มุ่งใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม จัดการความท้าทายด้านภัยพิบัติ/เหตุฉุกเฉิน
ดร.จิตรา ชัยวิมล รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรมและรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) Mr.Rensong Dong ประธานบริษัทอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคุนหมิง (Kunming University of Science and Technology National Science Park Co., Ltd.) และ Professor Tao Zhong ผู้อำนวยการสถาบันออกแบบและวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคุนหมิง (Kunming University of Technology Design and Research Institute Co., Ltd.) ร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ในความร่วมมือจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีนานาชาติ (TISTR-KUST International Technology Transfer Center : TISTR – KUST ITTC ) เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพฯ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต
โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความร่วมมือทางเทคโนโลยี นวัตกรรม และเสริมสร้างขีดความสามารถของทั้งสองประเทศ ในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจัดการกับความท้าทายเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉิน (Disaster Mitigation and Prevention, and Emergency Management) โดยความร่วมมือดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในงานสัมมนาเรื่อง “ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบทวิภาคีเพื่อสนับสนุนการบรรเทา การป้องกันภัยพิบัติ การจัดการเหตุฉุกเฉิน” (Bilateral Science and Technology Exchange and Cooperation, Disaster Mitigation and Prevention, and Emergency Management) ซึ่ง วว. โดย ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) ร่วมกับ KUST และเครือข่ายพันธมิตร จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมโนโวเทล ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาทักษะบุคลากรระหว่างจีนและไทย ในการจัดการสิ่งแวดล้อมและกากของเสียอุตสาหกรรม เทคโนโลยีระบบอัจฉริยะในการป้องกันอาคาร เทคโนโลยีการตรวจสอบและเฝ้าระวังโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะที่สำคัญ เช่น ถนน สะพาน ระบบราง ฯลฯ และเทคโนโลยีแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (BEV) และมาตรฐานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาประมาณ 100 คน จากประเทศไทยและประเทศจีน
ทั้งนี้ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีนานาชาติ TISTR-KUST ITTC เป็นความร่วมมือระหว่าง วว. กับ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคุนหมิง (Kunming University of Science and Technology : KUST) ซึ่งเป็น หนึ่งใน 100 มหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศจีน ตั้งอยู่ในเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน และเป็นมหาวิทยาลัยสำคัญที่มีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมที่แข็งแกร่งและเป็นฐานการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติจีน ความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีนานาชาติ ในครั้งนี้ มีเป้าหมายในการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่ 1) การร่วมพัฒนาและส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการจัดการปัญหาความท้าทายของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เช่น ด้านการขนส่งทางถนนและระบบราง การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม การตรวจสอบและเฝ้าระวังโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ฯลฯ 2) การรับรองความสามารถของบุคลากรวิจัยและระดับวิชาชีพ ผ่านโปรแกรมถ่ายทอดและอบรมสมรรถนะขั้นสูง Professional Certificate Program เช่น Post Doctoral Program และ Under-Graduation Certificate Program ในด้านที่ขาดแคลนบุคคลากร เช่น Logistic management Disaster prevention and protection New Energy Vehicle และ Battery research and recycle เป็นต้น และ 3) การพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการทดสอบตรวจสอบรับรองความปลอดภัยระดับอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน
สำหรับ ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง เป็นหน่วยงานในสังกัด สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ที่มีบทบาทสำคัญในการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน) สนับสนุนโยบายของภาครัฐในด้านการขนส่งทั้งทางถนน (Highway) และทางระบบราง (Railway) วว. ได้พัฒนาขีดความสามารถของประเทศในการทดสอบ (Test) ตรวจสอบ (Inspection) วัสดุและชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมการขนส่งทางถนนและทางระบบรางอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นในด้านสมรรถนะความปลอดภัย (Safety performance) ประสิทธิภาพ (Efficiency) และเทคโนโลยีสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Technology) ปัจจุบัน วว. มีห้องปฏิบัติการทดสอบวัสดุและชิ้นส่วน ที่ได้รับการรับรองความสามารถระบบ ISO/IEC17025 หมายเลขการรับรอง Testing 0507 ให้บริการทดสอบ ตรวจสอบวัสดุและชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมการขนส่งทางถนนและทางระบบราง เพื่อส่งเสริมด้านความปลอดภัย (Safety) และเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) การขนส่ง รวมทั้งการวิจัยพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัย หน่วยงานเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อผลิตงานวิจัยและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ส่งเสริมความปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ปัญหาในอุตสาหกรรมขนส่งทางถนนและทางระบบราง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน