กรมชลประทาน ประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุง โครงการส่งน้ำฯ เริงราง

กรมชลประทาน ประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุง โครงการส่งน้ำฯ เริงราง

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 2 ที่ว่าการ อ.ดอนพุด จ.สระบุรี นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี มอบหมายให้นายพัชรพัชร์ ศรีธัญญนนท์ นายอำเภอดอนพุด เป็นประธานการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเริงราง เพื่อสรุปผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นต่อแผนการบริหารจัดการน้ำและแผนงานปรับปรุงโครงการ โดยมีนายไชยวัฒน์ คุณวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเริงราง เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วย น.ส.ลภิณโกฬร์ จาตะวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์เศรษฐกิจโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ นายวิวัฒน์ ฉัตรชัยสุริยา ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม กรมชลประทาน นายคำรณ เทือกสุบรรณ ปลัดอาวุโสอำเภอดอนพุด พร้อมด้วยกลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำชลประทาน ผู้นำชุมชน อปท. ส่วนราชการ และผู้ที่สนใจทั่วไปเข้าร่วมประชุม กว่า 130 ท่าน

 

 

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียม และ เริงราง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเจ้าพระยาใหญ่ ประเภทส่งน้ำและระบายน้ำ โดยใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนเจ้าพระยาในการส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานไปตามคลองชลประทาน ในปี พ.ศ. 2560 กรมชลประทาน ได้ทำการศึกษาทบทวนความเหมาะสมโครงการปรับปรุงระบบชลประทานพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง พบว่า การปรับปรุง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียมและเริงราง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทานของโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ทั้ง 2 โครงการฯ มีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนานบางส่วนชำรุดเสียหาย ทำให้ระบบชลประทานมีประสิทธิภาพการใช้งานลดลง แม้ว่าจะมีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้บางส่วน แต่ยังไม่สามารถปรับปรุงให้ได้ประสิทธิภาพดังเดิมทั้งโครงการ

กรมชลประทาน ได้มีแผนงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียม และ เริงราง จังหวัดลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2566-2567 โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเริงราง ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2507 ปัจจุบันมีอายุ 60 ปี หัวงานตั้งอยู่ที่ต.สร่างโศก อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี มี ปตร.เริงราง ทำหน้าที่ทดน้ำเข้าสู่พื้นที่ชลประทานในเขต จ.สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา มีคลองส่งน้ำ 15 สาย ความยาวรวม 151.5 กิโลเมตร คลองระบายน้ำ 10 สาย ความยาวรวม 93 กิโลเมตร อาคารประกอบ 347 แห่ง พื้นที่โครงการ 200,595 ไร่ เป็นพื้นที่ชลประทาน 152,189 ไร่ แบ่งการบริหารน้ำเป็น 2 ฝ่ายส่งน้ำ การเกษตรส่วนใหญ่ทำนาข้าว

มีแผนงานปรับปรุงโครงการที่สำคัญ ประกอบด้วย แผนการปรับปรุงระบบคลองส่งน้ำและระบบคลองระบายน้ำ โดยการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารชลประทาน 187 แห่ง ถนนคันคลอง 195.25 กิโลเมตร คลองส่งน้ำ 96.66 กิโลเมตร ขุดลอกตะกอนคลองระบายน้ำรวม 1.03 ล้าน ลบ.ม. ซ่อมแซมถนนคันคลองระบาย 0.55 ล้าน ตร.ม., แผนบรรเทาอุทกภัยและการระบายน้ำ โดยการปรับปรุง ปตร.บางกุ่ม โดยเพิ่มบานระบาย ขนาด 6×7 ม.จำนวน 3 ช่อง พร้อมก่อสร้างสถานีสูบน้ำ ขนาด 4.00 ลบ.ม./วินาที จำนวน 3 เครื่อง สำรอง 1 รวมทั้งการปรับปรุงขุดลอกคลองระบายสายสำคัญในพื้นที่ อาทิเช่น คลองบางพระครู คลองระบาย 3 ซ้าย-ลพบุรี และคลองระบาย 4-9 ซ้าย-เริงราง ความยาวรวม 57.45 กิโลเมตร, แผนการปรับปรุงแก้มลิงที่สำคัญในพื้นที่ 2 แห่ง ประกอบด้วย แก้มลิงทะเลสาปบ้านหมอ พื้นที่ 1,738.40 ไร่ และพัฒนาบริเวณคลองระบายใหญ่เริงราง กม. 29+700 พื้นที่ 160 ไร่ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง, แผนพัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำบางกุ่ม ด้วยการลอกตะกอนดินในคลองระบายน้ำและปรับปรุงคันกั้นน้ำ และปรับปรุงอาคารประกอบที่สำคัญ ดังนี้ ก่อสร้างท่อระบายปากคลอง ร.4 ซ้าย-เริงราง และปากคลอง ร.1ข-4ซ เริงราง ก่อสร้างประตูระบายน้ำที่สำคัญดังนี้ ปตร.ดอนพุด ปตร.บางมน ปตร.บางเพลิง และ ปตร.เกาะเลิ่ง

นอกจากนั้น ยังมีแผนงานเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ อาทิเช่น การติดตั้งระบบ IoT (Internet of Things) สำหรับใช้ติดตามควบคุมการส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพ แผนการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ แผนพัฒนาและส่งเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำชลประทาน การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้น้ำในการบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำทุ่งท่าวุ้งและทุ่งบางกุ่ม แผนการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการน้ำชลประทาน (JMC) ร่วมกันทั้ง 4 โครงการส่งน้ำคลองชัยนาท-ป่าสัก ทั้ง คบ.มโนรมย์ คบ.ช่องแค คบ.โคกกะเทียม และ คบ.เริงราง แผนพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเครื่องมือของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาให้มีความพร้อมทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ยังได้เสนอให้มีการปรับธรณีปากคลองส่งน้ำสายหลักเพื่อให้สามารถรับน้ำได้มากขึ้น การก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบริเวณปากคลองส่งน้ำ และ การก่อสร้าง แท่นโมบายบริเวณปากคลองเพื่อให้เกษตรสามารถนำเครื่องสูบน้ำมาสูบน้ำในช่วงที่ระดับน้ำต่ำกว่าธรณีปากคลอง เป็นต้น

เมื่อปรับปรุงแล้วเสร็จตามแผนงานจะทำให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเริงราง มีน้ำต้นทุนทั้งฤดูฝนและฤดูแล้งเพิ่มขึ้น ทำให้พื้นที่น้ำท่วมลดลง 46,100 ไร่ เพิ่มศักยภาพบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางกุ่ม 138 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำต้นทุนสำหรับเตรียมแปลงเพื่อทำนาในรอบถัดไปของพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางกุ่ม 54 ล้าน ลบ.ม. จะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 700 ล้านบาทต่อปีในอนาคต