Friends of Thai Agriculture: FTA ผนึกความร่วมมือภาคี จัดประชุมนานาชาติ “แนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาการเผาพืชผลทางการเกษตรในประเทศไทย”
วันที่ 1 ตุลาคม 2567 กลุ่มเพื่อนเกษตรกรรมไทย (FTA) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปรึกษาด้านการเกษตรจากสถานทูตต่างๆ ทั่วโลก และสมาคมเกษตรกรรมเยอรมัน (DLG) ได้ร่วมกับพันธมิตรจาก GIZ ประเทศไทย GETHAC โครงการความร่วมมือระหว่างเยอรมันและไทย UNESCAP CSAM และ USDA ThaiRAIN/ Winrock International ร่วมกันจัดประชุมสำคัญเรื่อง “การประชุมเพื่อลดมลพิษทางอากาศ โดยการหลีกเลี่ยงการเผาในภาคการเกษตร : สร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาทางเลือกที่ยั่งยืนในการแทนที่การเผาไหม้พืชผล” โดยMs.Katharina Staske นางสาวแคทธาริน่า สตัสเก้ กรรมการผู้จัดการ DLG เอเชียแปซิฟิก และ Dr.Gijs Theunissen ดร. กิส เธอูนิสเซ่น ที่ปรึกษาด้านการเกษตร สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ กล่าวต้อนรับ และ Dr.Timo Menniken ดร. ทิโม เมนนิเกน ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทย กล่าวเปิดงาน และได้รับเกียรติจาก นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดงานอย่างเป็นทางการ โดยมี นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายพรเทพ ศรีธนาธร ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเป็นเกียรติภายในงาน
การประชุมครั้งนี้ ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมชั้นนำ ผู้กำหนดนโยบาย ตัวแทนภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในทุกภาคส่วน และ พันธมิตรระหว่างประเทศ เพื่อร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาของประเทศไทย และลดการเผาในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นประโยชน์ ต่อเกษตรกรไทยและประชากรทั่วโลก โดยมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาการเผาในภาคเกษตร ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ระดับมลพิษทางอากาศ PM2.5 ของประเทศไทยอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย
ภายในงานได้รับความสนใจโดยมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 300 คน มีเป้าหมายเพื่อเป็นเวทีสำหรับการแบ่งปันแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการเผาพืชผลในประเทศไทย ซึ่งกว่า 83% ของเศษซากพืชผลที่ถูกเผามาจากข้าว ข้าวโพด และอ้อย
ด้านนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังกล่าวเปิดงานครั้งนี้ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยได้ริเริ่มนโยบายสำคัญหลายประการ เพื่อลดผลกระทบจากการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติโดยเครือข่ายเกษตรกรที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ คือ Smart Farmer และ Young Smart Farmer ภายใต้ “โมเดล 3R” ประกอบด้วย 1) Re-Habit: การเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกร โดยการส่งเสริมวิธีปฏิบัติทางการเกษตรที่ไม่เผา 2) Replace with High-Value Crops: ส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการปลูกพืชแบบดั้งเดิม ไปสู่การปลูกพืชทางเลือกที่ให้กำไรสูงกว่า โดยเฉพาะในพื้นที่สูง และ 3) Replace with Alternate Crops: สำหรับพื้นที่ต่ำ และนอกเขตชลประทาน โมเดลนี้สนับสนุนการเปลี่ยนพืชที่เสี่ยงต่อการเผา แนวทางนี้เน้นการจัดการเศษซากพืชที่ดีขึ้นโดยเปลี่ยนของเสียทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินและเสริมสร้างความยั่งยืน
สำหรับการเผาในภาคการเกษตรยังคงเป็นวิธีปฏิบัติทั่วไป ที่เกษตรกรไทยเลือกใช้จัดการเศษซากพืชหลังการเก็บเกี่ยว เนื่องจากเป็นวิธีที่รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเตรียมพื้นที่ทำการเกษตร นอกจากนี้ เกษตรกรบางคน ยังเชื่อว่าการเผาสามารถช่วยควบคุมศัตรูพืชและโรคพืช เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และช่วยในการเตรียมพื้นที่สำหรับรอบการเพาะปลูกถัดไป ซึ่งวิธีปฏิบัตินี้ทำให้เกิดค่าใช้จ่าย ที่สำคัญผลกระทบจากการเผาในภาคการเกษตรมีความรุนแรง โดยส่งผลต่อมลพิษทางอากาศและก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ร้ายแรง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) นอกจากนี้ มลพิษนี้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโดยรวม ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจแก่เกษตรกร ทั้งนี้เศษซากพืช เช่น ฟางข้าว และเศษซากพืชจากอ้อย หรือข้าวโพด สามารถนำมาใช้เป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าในแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งรวมถึง การใช้ทรัพยากรเหล่านี้ในโครงการพลังงานชีวมวล หรือการผลิตผลผลิตอื่น ๆ อีกด้วย
นอกจากนี้ ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย ทั้งการบรรยายพิเศษจาก วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ดร.สมพร จันทรา อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ขึ้นกล่าวถึงเรื่องพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาในที่โล่งในภาคเกษตรกรรม และ ศาสตราจารย์วิษณุ อรรถวานิช ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย (ThaiCAN) และนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ที่กล่าวถึงการสำรวจกรอบนโยบายที่จะชี้นำเกษตรกรและอุตสาหกรรมให้มุ่งสู่การปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยั่งยืน
ตลอดจน มีการประชุมเสวนา “นวัตกรรมและความยั่งยืนในภาคเกษตรกรรม ที่เน้นไปที่การลดการเผาทางการเกษตร อาทิหัวข้อ -การใช้เครื่องจักร การสำรวจว่าความก้าวหน้าในเครื่องจักรกลการเกษตรสามารถนำเสนอทางเลือกอื่นแทนการเผาได้อย่างไร นำเสนอโดยวิศวกร Martin Gummert ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้เครื่องจักรและโซลูชันหลังการเก็บเกี่ยว -การใส่ปุ๋ยในดิน โดย ดร. ณัฐพล จิตตมาตย์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มานำเสนอเทคนิคการจัดการดินอย่างยั่งยืนเพื่อปรับปรุงสุขภาพของดินโดยไม่ต้องพึ่งการเผา -ห่วงโซ่คุณค่าใหม่ โดยคุณ Arvind Narula ผู้ก่อตั้ง Urmatt Ltd. จะนำเสนอนวัตกรรมแนวทางสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่โดยแปรรูปขยะพืชผลให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายได้ส่งเสริมให้เกษตรกรมีแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืน
จากนั้นในช่วงบ่าย เป็นการประชุมกลุ่มย่อย เรื่องพืชผลหลักที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการปลูกได้แก่ ข้าว ข้าวโพด และอ้อยในภาคเกษตร โดยมีการเสวนาถึงแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะเพื่อลดการเผา โดยแก้ไขความท้าทายเฉพาะตัวที่เกษตรกรและสิ่งแวดล้อมที่ต้องเผชิญ
และสำหรับช่วงท้ายของการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการนำเสนอประเด็นสำคัญจากการประชุมทุกหัวข้อและร่วมหารือเกี่ยวกับการลดการเผาพืชผลทางการเกษตรทั่วประเทศไทย โดย นายวิลเลียม สปาร์กส์ (Mr. William Sparks) , คุณ Karsten Ziebell ,นางสาวอานา คาโรลิน่า ลามี (Ms. Ana Carolina Lamy) ,สมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย โดย ดร.ดาเรศ กิตติโยภาส , นางสาวมาริยง ชามินาเด ที่ปรึกษาด้านการเกษตร ผู้แทน FTA (Ms. Marion Chaminade, Agnicultural Counsellor) ทั้งนี้ ผู้แทนจากกรมวิชาการเกษตรประเทศไทย ได้กล่าวปิดท้ายงาน ด้วยการเรียกร้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน ร่วมดำเนินการต่อไปเพื่อแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่ยั่งยืน
ทั้งนี้FTA ยังได้เน้นย้ำถึงการประชุมครั้งนี้ว่า นับเป็นก้าวแรกของความพยายามร่วมกัน เพื่อลดการเผาในภาคเกษตร ซึ่งหลังจากการประชุมแล้ว เราจะมีโครงการนำร่องและติดตามเพื่อขยายผลจากการประชุมครั้งนี้และหาแนวทางแก้ไขที่ดำเนินร่วมกันต่อไป