ชมรม strong-จิตพอเพียงต้านทุจริต สร้างเครือข่ายปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต ประจำปี 2567

ชมรม strong-จิตพอเพียงต้านทุจริต สร้างเครือข่ายปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต ประจำปี 2567


วันที่ 18 กันยายน 2567 เวลา 10.00 น.นายวีระ ศรีคำ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดการโครงการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตในพื้น ณ โรงแรมเพชรรัชต์การ์เด้น อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี นายเศก บูรณวรศิลป์ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริต ชำนาญการ พร้อมด้วย คณะผู้จัดงาน ชมรมstrong-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดร้อยเอ็ด ผู้แทนส่วนราชการ ภาคีเครือข่าย และ สื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรม

นายเศก บูรณวรศิลป์ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริต ชำนาญการ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตในพื้นที่ สืบเนื่องจากการเกิดการทุจริตที่รุนแรงมากขึ้นในประเทศไทย โดยดูจากดัชนีการรับรู้การทุจริต ประจำปี 2566 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International)พบว่าประเทศไทยได้คะแนน 35 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 108 จากการจัดอันดับทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก ผลคะแนนดัชนีรับรู้การทุจริตนี้ปรากฏว่ากว่าร้อยละ 70 ของจำนวนประเทศที่นำมาจัดอันดับสอบตกหรือมีคะแนนต่ำ ผลดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศต่างๆทั่วโลกดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันยังเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกประเทศต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย ปีพุทธศักราช 2560 ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 รวมถึงแผนแม่บทยุทธศาสตร์ในระดับต่างๆที่ได้วางหลักกำหนดไว้ให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐ มีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตและรัฐต้องจัดให้มีการส่งเสริมการป้องกันการทุจริต ยับยั้งการทุจริต พัฒนานวัตกรรมเพื่อการป้องกัน การทูตเชิงรุกรวมทั้งให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนหน่วยงานรัฐในการจัดให้มีกลไกการแจ้งเตือนพฤติกรรมที่ส่อว่าอาจเกิดการทุจริตในหน่วยงานเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

นายเศกฯ กล่าวอีกว่า โครงการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต เป็นโครงการต่อเนื่องซึ่งเริ่มต้นดำเนินการตั้งแต่ปึงบประมาณ พ.ศ.2563 จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้เกิดฐานข้อมูลประเด็นการทุจริตสำหรับการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ทั่วประเทศที่มีการจัดเรียง ปรับปรุง และพัฒนาข้อมูลอย่างเป็นระบบ ผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโลยีสารสนเทศ เพิ่มประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ให้แก่การกิจการป้องกันการทุจริตในระดับจังหวัด รวมถึงในระดับหน่วยงานภาครัฐ ตลอดถึงการกิจการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและปลุกจิตสำนึกในการต้านทุจริตให้แก่ประชาชนในทุกพื้นที่ กิจกรรมในครั้งนี้ มีสมาชิกเครือข่ายชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดร้อยเอ็ด เข้าร่วมจำนวน 250 คน

ภาพ:ข่าว คณิต ไชยจันทร์