มสด.จับมือจตุรภาคีหนุนเมืองสุพรรณ ศูนย์กลางเมืองอาหาร-เกษตรปลอดภัย

มสด.จับมือจตุรภาคีหนุนเมืองสุพรรณ ศูนย์กลางเมืองอาหาร-เกษตรปลอดภัย

มหาวิทยาลัยสวนดุสิตเดินหน้าขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร จับมือจตุรภาคีหนุนจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นเมืองต้นแบบอาหารปลอดภัยสู่ความยั่งยืน มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรปลอดภัยที่มีมาตรฐาน เพิ่มมูลค่า และเข้าสู่มาตรฐานสากล รวมถึงพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม

รศ. ดร.พรรณี สวนเพลง ผู้อำนวยการโครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร ภายใต้การกำดูแลของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยถึงการจัดกิจกรรมงานเสวนาการดำเนินโครงการ “สุพรรณบุรีโมเดล…เมืองต้นแบบอาหารปลอดภัยสู่ความยั่งยืน” ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” โดยมี ผศ. ดร.พิทักษ์ จันทร์เจริญ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ให้เกียรติกล่าวเปิดการเสวนา ว่ากิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดสุพรรณบุรีให้เป็นศูนย์กลางของเมืองอาหารและเกษตรปลอดภัย หลังจากดำเนินงานโครงการวิจัยเชิงพื้นที่ในจังหวัดสุพรรณบุรีมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี เพื่อพัฒนางานวิจัยและการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สู่การพัฒนาอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชน สร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี และสังคมที่มีสุขของจังหวัดสุพรรณบุรี


ทั้งนี้ ในปี 2567 มหาวิทยาลัยสวนดุสิตร่วมกับ วช. พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคชุมชน ภาครัฐ เอกชน และสถาบันอุดมศึกษาในลักษณะจตุรภาคี (Quadruple Helix) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรปลอดภัยที่มีมาตรฐาน เพิ่มมูลค่า และเข้าสู่มาตรฐานสากล และพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรมที่ช่วยส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรปลอดภัยจังหวัดสุพรรณบุรีให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย


การเสวนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รศ. ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร วิจัย และนวัตกรรม ดร.สรชัด สุจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี คุณณัชกฤติ พิมพ์ทอง กรรมการผู้จัดการวิสาหกิจชุมชนสิริสุพรรณ คุณชาตรี รักธรรม ที่ปรึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนกล้วยอู่ทอง และคุณสุภคม เอื้อทยา สมาชิกวิสาหกิจชุมชนคนรักษ์บ้านโพธิ์ ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการสร้างความยั่งยืนผ่านการพัฒนาจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นเมืองอาหารปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีการสาธิตการทำอาหารโดย เชฟจารึก ศรีอรุณ อาจารย์ประจำโรงเรียนการเรือน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่นำวัตถุดิบทางการเกษตรปลอดภัยของจังหวัดสุพรรณบุรีพัฒนาเป็นเมนูอาหารพร้อมทาน

“เป้าหมายสำคัญของการดำเนินงานของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญจะก่อให้เกิดผลกระทบ คือ 1) ด้านความเข้มแข็งในเชิงวิชาการ ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ของนักวิทยาศาสตร์ นักสังคมศาสตร์สู่การตีพิมพ์บทความวิจัย การจัดประชุมเชิงวิชาการสร้างองค์ความรู้ใหม่จากต้นทุนทางวัฒนธรรมด้านอาหารไทยร่วมกับนักวิชาการเครือข่ายต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้สู่สากล 2) ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ นำองค์ความรู้เชิงวิชาการมาเป็นแนวทางร่วมเพื่อการพัฒนากิจกรรมตลอดจนทรัพยากรทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารของไทย รวมถึงการวางแนวทางเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญให้กับประเทศ 3) ผลกระทบทางด้านสังคม สืบสาน อนุรักษ์ ภูมิปัญญาอาหารท้องถิ่นไทย ให้กลายเป็นทุนทางวัฒนธรรม และก่อให้เกิดทุนสังคมที่สำคัญของประเทศ” รศ. ดร.พรรณีกล่าวทิ้งท้าย