สทนช. กำชับทุกหน่วยจับตาสถานการณ์ฝนหนักช่วงปลาย ส.ค. – ก.ย.
เตรียมทุกอ่างให้พร้อมรับมวลน้ำ กักเก็บไว้ใช้และระบาย ไม่ให้กระทบท้ายน้ำ
- สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการทุกหน่วยงาน เฝ้าระวังปริมาณฝนตกหนักปลายเดือน ส.ค.- ก.ย. เตรียมทุกพื้นที่รับมวลน้ำเคลื่อนจากภาคเหนือลงสู่ภาคกลาง เตรียมข้อมูลคาดการณ์ที่แม่นยำ เพิ่มประสิทธิภาพระบบแจ้งเตือน ปชช. สั่งทุกอ่างเก็บน้ำเตรียมพร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างสมดุลทั้งเก็บน้ำไว้ใช้ให้เพียงพอแล้งหน้า และระบายออกให้กระทบท้ายน้ำน้อยที่สุด
วันที่ 21 ส.ค. 67 ดร. สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมฝนหลวงและการบินเกษตร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร เป็นต้น เข้าร่วมการประชุม ณ อาคารสำนักงาน สทนช. และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้เปิดเผยผลการประชุมว่า สถานการณ์น้ำในช่วงสัปดาห์นี้ เกิดร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้เกิดฝนตกชุกในพื้นที่ภาคเหนือหลายพื้นที่ประสบภาวะน้ำท่วมฉับพลัน และหากฝนยังคงตกกินเวลานานออกไปอาจจะเกิดเหตุดินโคลนถล่มได้ จึงได้เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับทุกสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงด้วย ซึ่ง สทนช. ในฐานะผู้แทนของประเทศไทยในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) จะคอยติดตามสถานการณ์และแจ้งต่อคณะกรรมาธิการฯ ได้ทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเทศสมาชิก MRC จะได้พิจารณาการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเพื่อหลีกเลี่ยงอุทกภัยจากปริมาณน้ำที่ล้นตลิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนริมตลิ่ง และไม่ให้ส่งผลกระทบต่อหลายจังหวัดในประเทศไทย ได้แก่ จ.บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานีด้วย”
เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า ช่วงปลายเดือน ส.ค. ถึงต้นเดือน ก.ย. มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดพายุไซโคลนในมหาสมุทรอินเดีย ส่งผลให้ลมมรสุมที่จะเข้าประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นและตกหนักเป็นบางแห่งในพื้นที่ภาคตะวันออกบริเวณ จ.ระยอง จันทบุรี ตราด และพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกบริเวณ จ. ภูเก็ต ตรัง กระบี่ จึงได้ขอให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยให้เร่งพัฒนาระบบการแจ้งเตือนล่วงหน้าให้มีประสิทธิภาพและกระจายข้อมูลต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้ ซึ่ง สทนช. ได้นำร่องพัฒนาระบบแจ้งเตือนผ่าน Line Application ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต และที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ด้วยแล้ว สำหรับอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในพื้นที่เสี่ยงที่มีปริมาณน้ำในอ่างมากอยู่แล้ว ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอ่าง และวางแผนการระบายน้ำไม่ให้ส่งผลกระทบในพื้นที่ท้ายน้ำ ขณะเดียวกัน ช่วงเดือน ก.ย.- ต.ค. เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องวางแผนบริหารจัดการกักเก็บน้ำฝนไว้ให้เพียงพอสำหรับใช้ในฤดูแล้งในปีหน้า ในขณะที่ต้องบริหารจัดการน้ำให้เกิดอุทกภัยน้อยที่สุดไปพร้อมกัน ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญ ดังนั้น จึงได้ขอให้ กรมอุตุนิยมวิทยาร่วมกับ สสน. จัดทำข้อมูลการคาดการณ์สถานการณ์ฝนที่มีความแม่นยำสูงรวมถึงข้อมูลเปรียบเทียบกับปีที่มีสถานการณ์ใกล้เคียงกันมากที่สุด เพื่อที่หน่วยงานต่างๆ จะนำไปใช้ประกอบการวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างสมดุลและมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป
ภายหลังการประชุม นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้แถลงผลการประชุมว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงเวลาที่ผ่านมาพบพื้นที่ประสบอุทกภัย 13 จังหวัด ซึ่งหลายจังหวัดกลับเข้าสู่ปกติแล้ว คงเหลืออีก 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา เพชรบูรณ์ กาฬสินธฺ และบึงกาฬ โดยที่ประชุมได้คาดการณ์ว่าช่วงปลายเดือน สค. ยังมีร่องมรสุมพาดผ่านไทยแต่อาจเคลื่อนต่ำลงมาบริเวณภาคเหนือตอนล่าง จะส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำยมและลำน้ำน่านเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง สทนช. ได้เตรียมการรองรับล่วงหน้าไว้แล้ว โดยได้ลงพื้นที่ไปจัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ที่ จ.สุโขทัยเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในภาคเหนือ พร้อมรถโมบายให้บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำสำหรับหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ แจ้งหน่วยงานในพื้นที่เร่งปรับปรุงซ่อมแซมคันกั้นน้ำให้แข็งแรงมั่นคง และได้เตรียมความพร้อมพื้นที่รับน้ำทุ่งบางระกำซึ่งขณะนี้ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตครบทุกพื้นที่แล้ว หากเกิดมวลน้ำมามากก็ได้วางแผนระบายน้ำบางส่วนเข้าทุ่งบางระกำ นอกจากนี้ สทนช. ได้แจ้งเตือนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบบริเวณชุมชนริมน้ำและพื้นที่ลุ่มต่ำ ประกอบด้วยพื้นที่ จ.น่าน (อ.เมืองน่าน เฉลิมพระเกียรติ แม่จริม บ้านหลวง ปัว ท่าวังผา เวียงสา ทุ่งช้าง เชียงกลาง สันติสุข บ่อเกลือ สองแคว และ ภูเพียง) จังหวัดแพร่ (อ.เมืองแพร่ เด่นชัย ลอง และวังชิ้น) จังหวัดสุโขทัย (อำเภอศรีสัชนาลัย ทุ่งเสลี่ยม และศรีสำโรง) สำหรับบึงบอระเพ็ดเป็นพื้นที่สำหรับตัดยอดน้ำที่จะลงมาเหนือเขื่อนเจ้าพระยา และได้วางแผนควบคุมน้ำเพื่อลดพื้นที่รับผลกระทบ โดยแบ่งการระบายน้ำผ่านระบบชลประทานของพื้นที่เจ้าพระยาอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบในพื้นที่ จ.ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร และกรณีหากเกิดพายุจรเข้ามาก็ขอให้ทุกหน่วยงานวางแผนบริหารจัดการโดยการเก็บกัก หน่วงน้ำ และระบายออกให้เร็วที่สุด ให้เป็นไปตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน 2567 เพื่อเกิดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงที่จะเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งให้มากที่สุดด้วย