ผ่า Vision ประธานบอร์ด อ.ส.ค. คนใหม่
ปักหมุด100ปี อ.ส.ค.ก้าวสู่องค์กรเข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืน
ประธานบอร์ด อ.ส.ค. คนใหม่ ปักหมุด100 ปี อ.ส.ค. สู่องค์กรเข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืน เป็นที่พึ่งของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศ พร้อมงัดกลยุทธ์การตลาดศึกษาการใช้ AI ผลักดันผลิตภัณฑ์ใหม่ตอบสนองตลาดภายในและต่างประเทศ พุ่งเป้ารายได้และมีกำไรมากขึ้น
ผศ.ดร. เกรียงไกร เจริญผล ประธานกรรมการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เปิดเผยนโยบายในการขับเคลื่อน และพัฒนา อ.ส.ค.ภายหลังเข้ารับตำแหน่งประธานบอร์ด อ.ส.ค. เผยถึง แผนขับเคลื่อนพัฒนา อ.ส.ค.ก้าวสู่ผู้นำอุตสาหกรรมนมระดับประเทศและระดับอาเซียน ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ปักหมุด 100 ปี อ.ส.ค.” มีเป้าหมายให้ อ.ส.ค.ก้าวสู่องค์กรที่มีความเข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืนสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน ปัจจุบัน อ.ส.ค.มีอายุ 62 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำกรอบยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน อ.ส.ค. ก้าวสู่ 100 ปี ในอีก 38 ปีข้างหน้าเป็น 3 ระยะคือ ระยะสั้นปักหมุดที่ 70 ปี ระยะปานกลาง 80 ปี และระยะยาว 100 ปี
ทั้งนี้ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ “ปักหมุด 100ปี แห่งการพัฒนา อ.ส.ค.” คาดหวังปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในระยะแรกประกอบด้วย 4 ด้านคือ 1.ผลักดันให้ อ.ส.ค.มีฐานะการเงินที่มั่นคงมีกำไร รายจ่ายลดและมีการลงทุนที่คุ้มค่า 2.เกษตรกรมีอาชีพการเลี้ยงโคนมที่มีความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดี 3.ประชาชนได้บริโภคนมโคสดแท้ 100% ที่มีคุณภาพสูงและปลอดภัย 4.มีการผลิตผลิตภัณฑ์นมที่มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของผลิตภัณฑ์นมที่แปรรูปจากนมโคแท้ 100% ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คยังคงเป็นหนึ่งในตราสินค้านมที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศไทย โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 45 ของผลิตภัณฑ์นมในประเทศ
นอกจากนี้ อ.ส.ค. ยังเดินหน้าปรับปรุงตลาดผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ให้มีการพัฒนาเพื่อดึงดูดและขยายกลุ่มผู้บริโภคให้มากขึ้น โดยพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น โยเกิร์ต โยเกิร์ตพร้อมดื่ม นมปรุงแต่งอัดเม็ด ไอศกรีม เป็นต้น
สิ่งที่คณะกรรมการบริหาร อ.ส.ค.ชุดใหม่อยากจะเห็น อ.ส.ค.ในอนาคต อันดับแรกคือการเลี้ยงโคนมจะธำรงรักษาจำนวนเกษตรกรและพัฒนา Smart Farmer เพราะโคนมเป็นสัตว์ที่ให้ผลผลิตทุกวัน ดังนั้นต้องบริหารจัดการฟาร์มให้มีมาตรฐาน ปลอดโรคเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพ 2.ด้านการบริหารจัดการองค์กร ต้องอยู่รอด เติบโต รุ่งเรือง 3.ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ผลิตภัณฑ์ที่ได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ และ 4.ด้านการตลาดสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดและขยายตลาดต่างประเทศ ในประเทศเน้นจำหน่ายผ่านช่องร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) อาทิ บิ๊กซี เทสโก้โลตัส ท๊อปส์ แม็คโคร เซเว่นอีเลฟเว่น และร้านค้าใหญ่ๆในชุมชนเป็นต้น ผ่านช่องทางตัวแทนจำหน่าย (Agent) ส่วนตลาดต่างประเทศปัจจุบันมีจำหน่ายในพม่า กัมพูชา ลาวและตลาดในอาเซียนและเตรียมศึกษาลู่ทางในการขยายตลาดในประเทศจีน ซึ่งถือเป็นประเทศที่น่าสนใจเนื่องจากมีกำลังซื้อสูงและ 5.ด้านการพัฒนาฟาร์ม ที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังเตรียมปรับโครงสร้างนโยบายด้านต่างๆให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ 1.นโยบายส่งเสริมการเลี้ยงโคนม ด้วยการดำรงรักษาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้มีความเข้มแข็งทางด้านอาชีพและไม่ให้ลดลงจากเดิมโดยที่ต้องทำเร่งด่วนคือลดต้นทุนอาหารสัตว์ด้วยการสร้างโรงงานอาหารสัตว์ของ อ.ส.ค. ขึ้นมาเอง โดยมีแผนก่อสร้างในอำเภอน้ำพอง จ.ขอนแก่น ภายใต้งบประมาณ 98 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์เอง พัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer พัฒนาฟาร์มเกษตรกรรายย่อยและฟาร์มประสิทธิภาพสูง ซึ่งทาง อ.ส.ค ภาคกลางได้มีฟาร์มต้นแบบอยู่แล้วในอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี 2.นโยบายการแปรรูปผลิตภัณฑ์นม พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ 3.นโยบายการตลาดและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ สร้างศักยภาพการตลาดด้วยกลยุทธ์ต่างๆ การส่งเสริมการขาย การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ ขยายตลาดต่างประเทศ 4.นโยบายแผนการพัฒนาฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค อาทิ ดูแลสภาพแวดล้อมฟาร์ม คน สถานที่ เครื่องมือและเครื่องจักร เป็นต้น
“ด้านกลยุทธ์การตลาด มีแผนที่จะผลักดันอ.ส.ค.ให้มีรายได้มากขึ้นและกำไรมากขึ้น ประกอบด้วย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และธุรกิจต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างรูปแบบการตลาดที่หลากหลาย ร้านค้าออนไลน์ แฟรนไชส์ตลอดจนเพิ่มคู่ค้าการตลาด ซึ่งจุดแข็งของ อ.ส.ค. คือมีเทคโนโลยีที่เหมาะสม วิถีเกษตรสอดคล้องกับระบบการเลี้ยงโค และมีพื้นที่ดีในการเลี้ยงโค ผศ.ดร. เกรียงไกร กล่าวย้ำ
ผศ.ดร. เกรียงไกร ยังได้กล่าวถึงแนวทางสืบสานอาชีพพระราชทานด้วยว่า นอกจากจะให้ความสำคัญในการพัฒนาฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์คให้เป็นฟาร์มที่มีประสิทธิภาพระดับประเทศแล้ว จะให้การส่งเสริมโคนมอาชีพพระราชทานไปยังเกษตรกรที่มีความสนใจให้กว้างขวางขึ้น โดยการส่งเสริมจะเน้น สถานที่ใกล้แหล่งน้ำ ใกล้เขตส่งเสริม ใกล้แหล่งรับซื้อ จัดหาแหล่งทุน การอบรมเชิงปฏิบัติการ และการดูแลสุขภาพ โคนมของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง