ก.พ.ร.จับมือ สสช.แชร์-เชื่อม-ใช้ Open Data
ร่วมกับการศึกษายุคดิจิทัลอย่างเข้มแข็ง
โครงการมหาวิทยาลัยดิจิทัลจัดอบรมออนไลน์ Open Data กับการศึกษายุคดิจิทัล หวังร่วมพัฒนาข้อมูลดิจิทัลให้เข้มแข็งและถูกต้อง มุ่งสู่การเป็นอุดมศึกษาดิจิทัลที่ทุกภาคส่วนนำไปใช้ประโยชน์ข้อมูลอย่างเต็มที่เพื่อเปิดกว้างการพัฒนาระบบต่าง ๆ ภายใต้แนวคิด ‘แชร์ เชื่อม ใช้’
อ.ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ผู้ดูแลโครงการการสร้างนิเวศสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล เปิดเผยว่า โครงการฯ ได้จัดการอบรมออนไลน์ “Open Data กับการศึกษายุคดิจิทัล” เพื่อการพัฒนาข้อมูลดิจิทัลให้มีความเข้มแข็งและถูกต้อง สามารถใช้งานได้จริง เนื่องจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์อาจเกิดข้อผิดพลาดได้ ดังนั้นจุดตัดของการทำให้การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกต้องนั้นต้องกลับมาที่คนใช้งานและเริ่มที่ข้อมูล โดยมีผู้เข้าอบรมประกอบด้วย มหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน และประชาชนที่สนใจ
นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวถึงเป้าหมายและทิศทางการทำ Open Data ระดับชาติ และการเชื่อมต่อกับข้อมูลมหาวิทยาลัยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ว่าข้อมูลที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญของรัฐบาลดิจิทัลที่นำไปสู่การเป็นอัจฉริยะหรือความชาญฉลาดของประเทศ โดยการเกิดโควิด-19 ถือเป็นจุดเปลี่ยนในการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสของระบบราชการไทยในการเชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูล โดยเฉพาะงานบริการผ่านระบบออนไลน์ที่ได้รับความสนใจจากผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ในอีกความท้าทายที่ระบบราชการกำลังเผชิญ คือ การโจมตีหรือความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงการส่งข้อมูลที่ถูกต้องของปัญญาประดิษฐ์
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 13 “ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน” ทำให้ภาครัฐต้องนำดิจิทัลมาใช้ในการทำงาน ปรับบทบาททั้งด้านโครงสร้าง กฎหมาย และบุคลากรสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่ใช้ข้อมูลในการบริหารจัดการภาครัฐเพื่อการพัฒนาประเทศ ภายใต้ความร่วมมือของ ก.พ.ร. สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) นอกจากนี้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ รัฐบาลดิจิทัลและ Open Government จะต้องเกื้อหนุนกันและนำข้อมูลดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มที่เพื่อเปิดกว้างการพัฒนาระบบต่าง ๆ ภายใต้แนวคิด ‘แชร์ เชื่อม ใช้’ โดยมีดัชนีสากลเป็นตัวชี้วัดการทำงานของแต่ละหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพึงพอใจของประชาชนผู้ใช้บริการระบบออนไลน์ รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ การยกระดับและขับเคลื่อนการทำงานภาครัฐที่ต้องปรับบทบาทให้ทันสมัย ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งต้องออกแบบให้เข้าถึงง่าย รวดเร็ว เกิดประโยชน์ และมั่นคงปลอดภัย โดยจัดทำคู่มือสำหรับประชาชน www.info.go.th โดยจัดหมวดหมู่กระบวนงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการสืบค้น
ปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ ได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัลทั้งการพัฒนาบริการภาครัฐสู่ E-Service ซึ่งรวมถึงด้านการศึกษา นอกจากนี้ยังปรับเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐสู่ข้อมูลดิจิทัล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เช่น ระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ระบบคลาวด์ ระบบการจ่ายเงิน ตลอดจนพัฒนาการบริหารจัดการและกระบวนการทำงาน เช่น ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ระบบหลังบ้านของสำนักงาน อีเมล ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมหาวิทยาลัยสามารถตรวจสอบได้ว่าอยู่ ณ จุดใดของภาพรวมทั้งหมด
ขณะที่ ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวระหว่างการบรรยายเรื่อง “การพัฒนา Data Catalog เพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกัน” ว่าแผนงานรัฐบาลอัจฉริยะและการเปิดเผยข้อมูลสู่การจัดทำ Government Data Catalog มีหลายระดับตั้งแต่ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการเชื่อมโยงสู่รัฐบาลดิจิทัล แผนแม่บท โดยมีกลไกและกรอบกฎหมายเป็นตัวเร่งการทำงาน คือ พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ซึ่งระบุบทบาทของทุกหน่วยงานที่เป็นเจ้าของข้อมูลและผู้ใช้ประโยชน์ โดยต้องจัดทำระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐที่มีกระบวนการตรวจสอบโดยคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูลหน่วยงานก่อนเผยแพร่ข้อมูล และจัดทำตามมาตรฐานรัฐบาลดิจิทัลที่มีคำอธิบายข้อมูลประกอบข้อมูลที่ชัดเจน ชี้ไปยังแหล่งข้อมูลต้นทางที่เป็นทางการที่เชื่อถือได้ เพื่อให้มั่นใจในการนำไปอ้างอิง และค้นหาได้อย่างรวดเร็ว นำไปใช้งานต่อได้ง่าย ส่วนแผนงานในระยะต่อไปจะเสนอแพลตฟอร์มกลาง รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมและฝึกอบรมการใช้ระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐที่ผ่านการคัดกรองแล้ว และนำไปใช้ประโยชน์ เช่น จัดทำศูนย์ข้อมูลเฉพาะเรื่อง เช่น ด้านการเกษตร หรือจัดทำสารสนเทศเพื่อจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล
ปิดท้ายที่ อ.ดนัยรัฐ ได้อธิบายหลักการและขั้นตอนของ Open Data โดยระบุว่าหัวใจสำคัญคือ 1) เข้าถึงได้จริงและง่ายต่อการนำไปใช้ แก้ไขได้ ดาวน์โหลดฟรีผ่านอินเตอร์เน็ต 2) อนุญาตให้ใช้ใหม่และเผยแพร่ได้ รวมถึงการใช้ชุดข้อมูลร่วมกับชุดข้อมูลอื่น ๆ 3) ผู้เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ ใช้ซ้ำหรือเผยแพร่โดยไม่ติดข้อจำกัดใด ๆ แต่ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของข้อมูล โดยชุดข้อมูลที่เหมาะสมในการเผยแพร่ควรอยู่ในรูปของตารางหรือโครงสร้างเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และควรมีตัวเลขสถิติ เช่น จำนวนผู้ป่วย ปริมาณขยะมูลฝอย ปริมาณน้ำฝนรายเดือน สำหรับปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับงาน Open Data คือ 1) คน มีคณะทำงานที่เพียงพอต่อการดำเนินงาน 2) คุณภาพข้อมูลและการกำหนดเจ้าของข้อมูล 3) การกำหนดการอัพเดทข้อมูลและบำรุงรักษานิยามข้อมูล รวมถึงคำอธิบายข้อมูลให้ตรงกับการดำเนินงานล่าสุด 4) ความรู้และความเข้าใจด้านเทคโนโลยี โดยสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการฯ ที่จะเป็นแพลตฟอร์มกลางที่จะ ‘เชื่อม’ หน่วยงานต่าง ๆ ให้มีพื้นที่ทำงานร่วมกัน ‘แชร์’ ข่าวสาร แนวทางการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และแชร์ข้อมูลที่จะนำไปสู่การ ‘ใช้’ ประโยชน์ร่วมกันต่อไป