สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงแม่สะเรียง จำกัด รุกเพิ่มค่าสินค้าเกษตรดัน “เฮงาะเลอทิญบ้านป่าแป๋” เป็นข้าวจีไอ(GI)
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน เร่งขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่ได้รับงบสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ จำนวน 43,450 บาท เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น“ข้าวเฮงาะเลอทิญ” บ้านป่าแป๋(HaaoLeTin Brown Rice) แห่งเมืองสามหมอก
ภายหลังมีการประชุมร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงแม่สะเรียง จำกัด ผู้นำชุมชนบ้านป่าแป๋ ณ หอประชุมโรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 10 ม.3 ต.ป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมาเพื่อผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียน”ข้าวเฮงาะเลอทิญ บ้านป่าแป๋” เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือสินค้าจีไอ(GI)
นางสาวอมรรัตน์ ไอ่จันทร์ หัวหน้าฝ่ายบัญชี สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงแม่สะเรียง จำกัด ซึ่งได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้เปิดเผยว่ารู้สึกดีใจและขอบคุณที่หน่วยราชการเห็นความสำคัญข้าวพื้นเมืองดั้งเดิมของชนเผ่าละว้าอย่าง “ข้าวเฮงาะเลอทิญ” ที่ได้ร่วมผลักดันและยกระดับให้เป็นสินค้าจีไอ(GI)เพื่อจะได้เพิ่มมูลค่าและเป็นที่รู้จักของสาธารณชนมากขึ้น ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงแม่สะเรียง จำกัดได้รวบรวมผลผลิตข้าวเฮงาะเลอทิญจากสมาชิกที่มีทั้งหมด 235 ราย ได้ปริมาณผลผลิตรวมเฉลี่ย 10 ตันต่อปี ส่วนใหญ่ส่งจำหน่ายให้กับโครงการหลวง สนนในราคากิโลกรัมละ 12-13 บาท โดยผลผลิตดังกล่าวส่วนหนึ่งจะเก็บพันธุ์ไว้เพื่อจะปลูกในฤดูถัดไป
“สมาชิกส่วนใหญ่กว่า 90%จะปลูกข้าวเฮงาะเลอทิญเป็นอาชีพหลัก แต่ข้าวชนิดนี้เป็นข้าวนาปี ปลูกได้ปีละครั้งเท่านั้น เป็นข้าวมาตรฐานจีเอพี(GAP) ขณะเดียวกันสมาชิกก็จะปลูกพืชผัก ไม้ผลเมืองหนาวด้วยเพื่อจะได้มีรายได้เสริม ปัจจุบันผลผลิตข้าวทั้งหมดส่งขายให้กับโครงการหลวง ส่วนหนึ่งก็นำมาแปรรูปเป็นข้าวกล้องบรรจุถุง ๆ ละ 1 กิโลกรัมขายผ่านออนไลน์ทางเว็บเพจสหกรณ์ฯ สนนในราคาถูงละ 50 บาทและอีกส่วนสมาชิกจะเก็บไว้เพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์เพาะปลูกในฤดูถัดไป” นางสาวอมรรัตน์เผย
สำหรับ“ข้าวเฮงาะเลอทิญ” บ้านป่าแป๋ เป็นข้าวเจ้าพันธุ์ดั้งเดิมแท้ มีประวัติมาอย่างยาวนานของชนเผ่าลั้วะหรือละว้า ซึ่งคำว่า “เฮงาะ” ในภาษาละว้าหมายถึง ข้าว มีลักษณะเมล็ดสั้นและใหญ่ ข้าวนิ่ม หุงขึ้นหม้อ มีสารแกมมาออไรซานอลต้านอนุมูลอิสระ อุดมไปด้วยวิตามินต่างๆ ที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย อาทิ วิตามินบี 1, วิตามิน บี 6 ช่วยบำรุงประสาท มีคุณสมบัติป้องกันโรคเหน็บชา ช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย มีโปรตีน ช่วยในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และมีธาตุสังกะสีที่ช่วยระบบการไหลเวียนของเลือด ปลูกกันมากในเขตพื้นที่ตำบลบ้านป่าแป๋ และเป็นการปลูกในลักษณะบนนาแบบขั้นบันได
หัวหน้าฝ่ายบัญชี สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงแม่สะเรียงยังกล่าวขอบคุณสำนักงานสหกรณ์จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ส่งเจ้าหน้าที่ดูแลคอยให้คำแนะนำทั้งในเรื่องกระบวนการผลิต ระบบการบริหารจัดการองค์กร ตลอดจนดูแลเรื่องการตลาด พร้อมทั้งให้การสนับสนุนการแปรรูปเพิ่มมูลค่าข้าว นอกจากนี้ยังขอบคุณท่านอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ ที่ให้คำแนะนำที่ดี ในแง่มุมต่าง ๆ เมื่อครั้งที่ท่านและคณะมาเยี่ยมชมกิจการของสหกรณ์ฯเมื่อปีก่อนด้วย
“ปัจจุบันผลผลิตข้าวเปลือกเกือบทั้งหมดที่รวบรวมจากสมาชิกเฉลี่ย 10 ตันต่อปีส่งให้กับทางโครงการหลวงกิโลกรัมละ 12-13 บาท ตอนนี้สหกรณ์ต้องการจะนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเองทั้งหมดไม่ต้องการขายเป็นข้าวเปลือก ทั้งนี้ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับสมาชิกและสหกรณ์ฯ จึงฝากเรียนท่านอธิบดีฯพิจารณาเรื่องนี้ด้วยค่ะ”นางสาวอมรรัตน์กล่าววิงวอน
อย่างไรก็ตามข้าวเฮงาะเลอทิญ บ้านป่าแป๋ เป็นข้าวนาปีปลูกได้ปีละครั้ง เริ่มปลูกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมและมิถุนายนแล้วจะไปเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคมปีเดียวกัน ทว่าหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ก็ปล่อยให้ตอซังเน่าคาแปลง บางส่วนนำไปเป็นอาหารโค กระบือ จากนั้นที่นาก็ถูกแปลงให้เป็นพื้นที่ปลูกผักหลากหลายชนิดโดยการสนับสนุนส่งเสริมจากทางโครงการหลวง โดยมีการจัดการแปลงปลูกด้วย GP (green productivity) และผลผลิตที่ได้ก็ส่งจำหน่ายให้กับทางโครงการหลวง
นายเอกรินทร์ ปอสอ สมาชิกสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงแม่สะเรียง จำกัดเคยกล่าวไว้เมื่อครั้งหลังได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกสหกรณ์ฯในพื้นที่โครงการหลวงดีเด่น ประจำปี 2564 โดยระบุว่าการผลิตพืชผักให้กับโครงการหลวง จะผลิตใน 2 รูปแบบได้แก่ ปลูกผักอินทรีย์ และปลูกผักระบบ GAP โดยทางโครงการหลวงจะมีนักวิชาการมาแนะนำกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอน จากนั้นสหกรณ์ฯจะรวบรวมผลผลิตขอสมาชิกส่งให้ทางโครงการหลวงอีกทอดหนึ่ง
“อยากจะขอบคุณสหกรณ์กับโครการหลวง เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการทำการเกษตรในพื้นที่ตั้งแต่การสนับสนุนโรงเรือนเพาะปลูกปัจจัยการผลิตตั้งแต่ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ ข้อมูลวิชาการที่ดีในการเพาะปลูก ทางสหกรณ์ก็จะทำการตลาดให้ ทำให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง ทุนก็เอามาจากสหกรณ์ก่อนแล้วจ่ายคืนทีหลัง” สมาชิกสหกรณ์ฯคนเดิมกล่าว
ด้าน นายพัทยา ธรรมสอน ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่าในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 นี้ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับงบสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ จำนวน 43,450 บาท เพื่อส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่ม พัฒนาศักยภาพด้านการตลาดและพยายามผลักดันข้าวพื้นเมืองพันธุ์ดังกล่าวให้ได้รับสินค้าจีไอ(GI) ด้วย ทั้งนี้เพื่อสร้างอาชีพและรายได้เพิ่มให้กับสมาชิกสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงแม่สะเรียงและเกษตรกรชาวแม่ฮ่องสอน
อย่างไรก็ตามผู้สนใจผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องเฮงาะเลอทิญ บ้านป่าแป๋ บรรจุถุง 1 กิโลกรัมถุงละ 50 บาท ติดต่อได้ที่สำนักงานสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงแม่สะเรียง จำกัด ต.ป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โทร. 09-3317-9797