กรมประมง…ชวนเที่ยวรับลมหนาว – เคาท์ดาวน์ปีใหม่ @ กว๊านพะเยา ในงาน “มหกรรมการเกษตรและท่องเที่ยวถนนสายดอกไม้งาม” เริ่ม 25 ธ.ค. 2566 ถึง 3 ม.ค. 2567      

กรมประมง…ชวนเที่ยวรับลมหนาว – เคาท์ดาวน์ปีใหม่ @ กว๊านพะเยา                   

ในงาน “มหกรรมการเกษตรและท่องเที่ยวถนนสายดอกไม้งาม” เริ่ม 25 ธ.ค. 2566 ถึง 3 ม.ค. 2567              

 

กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมจัดงานมหกรรมการเกษตรและท่องเที่ยวถนนสายดอกไม้งามริมกว๊านพะเยา ภายใต้แนวคิด “อิ่มไอหนาว แอ่วม่วนลำ @ กว๊านพะเยา” ในระหว่างวันที่ 25 ธ.ค. 2566 – 3 ม.ค. 2567 รวมทั้งสิ้น 10 วัน 10 คืน มาท่องเที่ยวสนุก กระตุ้นเศรษฐกิจ เรียนรู้วิถีชีวิตคนพะเยา พบกับการแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเกษตร การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร การประกวดพืช สัตว์ ประมง และอัตลักษณ์เกษตรกรไทย เช่นการประกวดปลากัดสายพันธ์ต่างๆ การจัดกิจกรรม Workshop ด้านการเกษตร เพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้ กว่า 29 หลักสูตร รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย

นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า งานมหกรรมการเกษตรและท่องเที่ยวถนนสายดอกไม้งามริมกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา จัดขึ้นเพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ในการส่งเสริมการเกษตรระดับพื้นที่ให้ครบทั้งระบบการผลิตสินค้าเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เผยแพร่ความรู้นวัตกรรมด้านการผลิต ทั้งพืช สัตว์ และประมง และเชื่อมโยงการจัดกิจกรรมทางภาคการเกษตรในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน รวมถึงส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี วิถีชีวิต อันดีงามของชุมชน

ความสัมพันธ์ของกว๊านพะเยากับกรมประมงนั้น เริ่มต้นเมื่อ 100 ปีที่แล้ว เมื่อ พ.ศ. 2466 ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิท ที่ปรึกษาแผนกสัตว์น้ำ (อธิบดีกรมประมงคนแรก) พร้อมด้วยเจ้าพระยาพลเทพเสนาบดี กระทรวงเกษตราธิการ และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ไปตรวจหนองเอี้ยง (กว๊านพะเยา) เพื่อดูหนองบึงกับพันธุ์ปลา ต่อมาในปี พ.ศ.2482 กรมประมงได้มีการสร้างประตูระบายน้ำเพื่อกั้นลำน้ำอิง ที่อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย และมีพระบรมราชโองการกำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบริเวณกว๊านพะเยา จำนวน 16,225 ไร่ และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลรักษาไว้เพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ และใช้เวลากว่า 2 ปี (พ.ศ. 2484) บริเวณดังกล่าวเริ่มมีปริมาณน้ำมากขึ้นจนเต็มพื้นที่จากหนองเอี้ยง เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ พื้นที่ 17 – 18 ตารางกิโลเมตร กักเก็บน้ำได้ถึง 33.84 ล้านลูกบาศก์เมตร และถูกเรียกว่า “กว๊านพะเยา” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พร้อมมีการเปิดสถานีประมงน้ำจืดพะเยาอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2492 กรมประมงได้ประกาศให้กว๊านพะเยาเป็นที่รักษาพืชพรรณ และดูแลพันธุ์สัตว์น้ำในกว๊านพะเยามาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2501 กรมประมงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง เสด็จประพาสพะเยาครั้งแรก ได้ทรงปล่อยพันธุ์ปลาลงในลำน้ำอิง และเสด็จฯ เยี่ยมสถานีประมงกว๊านพะเยา นับเป็นรอยพระบาทแรก หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2514 กรมประมงได้สร้างพระตำหนักกว๊านพะเยา น้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี (สมเด็จย่า) และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สมเด็จพระพี่นาง) หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2532 – 2536 กรมประมง ได้พัฒนาและส่งเสริมงานวิชาการ สร้างโรงเพาะฟัก ห้องปฏิบัติการฯ  และก่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด สำนักงานประมงจังหวัดพะเยา และสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งทำให้การดูแลฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในกว๊านพะเยาเป็นรูปธรรมมากขึ้น และในปี พ.ศ. 2543 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กว๊านพะเยาเป็นพื้นที่ชุมน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ จนกระทั่ง ปัจจุบันนี้ กว๊านพะเยา ถือเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สุด ของภาคเหนือตอนบน ตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำอิง มีลำน้ำสาขาไหลจากเทือกเขาผีปันน้ำทิศตะวันตก รวมกับลำน้ำในเขต อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ไหลลงสู่กว๊านพะเยาจำนวน 13 สาย พิกัดตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยาครอบคลุมพื้นที่เทศบาลเมืองพะเยา เทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล รวม 17 ชุมชน และในปี พ.ศ. 2566 และมีการปรับพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำให้สอดคล้อง กับ พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 56  เป็นแหล่งน้ำสำคัญในหลายด้านของจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น ด้านการประมง การชลประทาน  แหล่งท่องเที่ยว แหล่งประวัติศาสตร์ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในพื้นที่ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้จังหวัดพะเยา เป็นที่รู้จักในฐานะของเมืองท่องเที่ยว “เมืองรอง ต้องลอง” เนื่องจากจังหวัดพะเยาเป็นเมืองรองด้านการท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ที่มีอัตลักษณ์ของตนเองและมีศักยภาพด้านการเกษตร จึงเกิดโครงการส่งเสริมการพัฒนาภาคการเกษตรให้เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประชาสัมพันธ์จังหวัดพะเยาให้เป็นที่รู้จัก สร้างโอกาสการดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยใช้สีสันพรรณไม้งามริมกว๊านพะเยา เพื่อเป็นต้นแบบการส่งเสริมกิจกรรมด้าน    การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ส่งผลให้มีรายได้กระจายสู่เศรษฐกิจฐานรากได้เพิ่มมากขึ้น

สำหรับ “งานมหกรรมการเกษตรและท่องเที่ยวถนนสายดอกไม้งามริมกว๊านพะเยา” กรมประมงได้มีการจัดแสดงนิทรรศการตำนานกว๊านพะเยา ประกอบด้วย พระราชกรณียกิจ ด้านการประมงของสมเด็จย่ากับกว๊านพะเยา     จัดแสดงแบบจำลองกว๊านพะเยา จัดแสดงแบบจำลองบันไดปลาโจน จัดแสดงชุดเพาะฟักเคลื่อนที่ แสดงพันธุ์สัตว์น้ำ    ในกว๊านพะเยา จุดเช็คอินโดยตกแต่งสถานที่ให้สวยงามในรูปแบบประมงเชิงอนุรักษ์เพื่อให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป และกิจกรรมการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในกว้านพะเยา การจัดเตรียมบริการ  ด้านการเกษตร การประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  ในคุ้มพิรุณราช แสดงผลงานทางวิชาการถ่ายทอดความรู้กระบวนการ  เรียนรู้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ในด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมเกษตรมีการจัดแสดงนิทรรศการและความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับปลากัดสวยงามและปลากัดป่าสายพัฒนา    การประกวดปลากัดสวยงาม ชม ช้อป จุใจ กับผลิตภัณฑ์ผลผลิตทางการเกษตรจากร้าน Fisherman Shop @ บางเขน และกิจกรรม Workshop เพื่อเสริมทักษะการเรียนรู้ด้านการแปรรูปสัตว์น้ำ   อย่างถูกสุขลักษณะตามหลักโภซนาการ เพื่อให้เกิดการสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน สามารถนำวิธีการการเกษตรไปต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ต่อไป

จึงขอเชิญชวนประชาชนในพื้นที่ และผู้ที่สนใจมาร่วมสนุกสนานข้ามปี ได้ในงานมหกรรมการเกษตร และท่องเที่ยวถนนสายดอกไม้งาม ริมกว๊านพระเยา จังหวัดพะเยา ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2566 – 3 มกราคม 2567        ตลอด 10 วัน 10 คืน ณ ถนนชายกว๊าน ริมกว๊านพะเยา ตำบลเวียง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา  รองอธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้าย