อธิการบดี มก. ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง เวชศาสตร์การเกษตรและชีวนวัตกรรม
ความก้าวหน้าและทิศทางสู่อนาคตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ในวาระครบรอบ 1 ปี วันคล้ายวันสถาปนาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานวันครบรอบ 1 ปี วันคล้ายวันสถาปนาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันพุธที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ณ ห้องประชุม 601A ชั้น 6 อาคารศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ 60 พรรษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โดย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “เวชศาสตร์การเกษตรและชีวนวัตกรรม: ความก้าวหน้าและทิศทางสู่อนาคตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” ว่าการดำเนินการของคณะแพทยศาสตร์ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เกิดจากการร่วมผนึกแรงกายแรงใจของทุกภาคส่วนในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ช่วยสนับสนุนให้หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการรับรองจากแพทยสภาตามเกณฑ์ WFME ส่งผลให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสถาบันผลิตแพทย์ลำดับที่ 27 ของประเทศไทย ที่พร้อมรับนิสิตแพทย์รุ่นแรก ในปีการศึกษา 2567 ที่จะถึงนี้ และชื่อของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้ปรากฏอยู่ใน World Directory of Medical Schools ด้วย
ความเป็นมาของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีศักยภาพในการสร้างความพร้อมตั้งแต่ปีพ.ศ.2518 ที่มีการจัดการเรียนการสอนให้กับนิสิตเตรียมแพทย์ร่วมกับวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ต่อมาในปี พ.ศ.2545 สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีมติอนุมัติ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัด หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค และหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต (ต่อเนื่อง) ปีพ.ศ.2546 ได้รับวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ ในฐานะสถาบันสมทบ เข้ามาจัดการเรียนการสอนร่วมกัน และในปีพ.ศ.2556 มีการจัดตั้งคณะสาธารณสุขศาสตร์ ขึ้น ที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร
ในช่วงระหว่างปีพ.ศ.2563 – 2566 สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีมติอนุมัติในหลักการให้ทบทวนการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้นอีกครั้ง ซึ่งผ่านขั้นตอนและใช้เวลาการดำเนินงานต่างๆ และในที่สุดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ประกาศ ให้คณะแพทยศาสตร์เป็นส่วนงานใหม่อันดับที่ 33 ของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 พร้อมกับดำเนินการโครงการอุทยานการแพทย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บนพื้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เพื่อรองรับการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงคณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ สนับสนุนการเรียนการสอนและการบริการประชาชนด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบข้อเสนอการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 สำหรับโครงการอุทยานการแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วงเงิน 8,863.93 ล้านบาท โดยเสริมจุดเด่นของศักยภาพพื้นที่โครงการอุทยานการแพทย์ ด้วยธรรมชาติที่สมบูรณ์ในใจกลางเมือง เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ พรั่งพร้อมด้วยแหล่งการเรียนรู้นวัตกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัย รวมถึงพัฒนาให้เป็นที่เผยแพร่สินค้าและบริการที่ได้มาตรฐานสูงเพื่อส่งเสริมสุขภาพองค์รวมให้กับประชาชน และยังสามารถเป็น Marketplace สำหรับผลิตภัณฑ์/บริการที่ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ภายใต้แนวความคิดการพัฒนาด้วยหลักการเชื่อมพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า (Transit Oriented Development-TOD) ได้เป็นอย่างดี
คณะแพทยศาสตร์นับว่ามีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จของแผนปฏิบัติการ 4 ปี ของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ (2567-2570) ในยุทธศาสตร์ที่ 4 ซึ่งเน้นการบูรณาการศาสตร์สุขภาพและนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อสุขภาวะที่ดีของประชาชนและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบเชิงบวกในระดับประเทศ รวมทั้งเป็นผู้นำในการสร้างและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สนับสนุนการดำเนินงานทางด้านการแพทย์ และการบูรณาการจัดการความรู้และสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) เพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ และช่วยให้ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยดีขึ้นในอนาคต และคาดหวังนวัตกรรมการเรียนการสอน ด้วยเทคโนโลยีใหม่ภายใต้บริบท คิดนอกกรอบ ไม่ออกนอกกฎ Think Outside The Box ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน
“ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ตั้งเป้าหมายต่อไปในอนาคตเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของคณะแพทยศาสตร์ คือ 1.ทำให้โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นศูนย์กลาง เป็นแหล่งเรียนรู้ วิจัย บริการของทุกคณะ วิชา ส่วนงาน เพื่อดึงพลัง การวิจัย บริการด้านสุขภาพ 2.สร้างความโดดเด่นของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในด้าน ชีวนวัตกรรม เวชศาสตร์การเกษตร ในระดับชาติ และนานาชาติ 3. เป็นผู้นำด้านดิจิทัลด้านการแพทย์ จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดดเด่น และเป็นโรงพยาบาลแห่งใหม่ 4.มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันของ คณะแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ ทันตแพทย์ เภสัช สุขภาพและอื่นๆ ทั้งบุคลากร เครื่องมือ อาหาร สิ่งก่อสร้าง ตำรา เอกสาร วารสาร ดิจิทัล และการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม และ 5.เมื่อครบ 100 ปี Kasetsart ตั้งเป้าไว้ว่า สาขาการแพทยศาสตร์ ติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศ และ 1 ใน 300 ของโลก” อธิการบดี กล่าว