มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทูลถวายปริญญากิตตมศักดิ์แด่สมเด็จสังฆราช ทูลเกล้า ฯ ถวายปริญญากิตตมศักดิ์แด่ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
และ ผู้ทรงคุณวุฒิ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2565
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จแทนพระองค์ไปพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2565 ระหว่างวันที่ 9 – 12 ตุลาคม 2565 เวลา 14.00 น. ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยมีผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565 จำนวน 16,233 คน แบ่งเป็น ดุษฎีบัณฑิต 244 คน มหาบัณฑิต 1,802 คน บัณฑิต 14,187 คน บัณฑิตได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จำนวน 2,069 คน เกียรตินิยมอันดับสอง จำนวน 2,375 คน
ในปีนี้ สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ทูลถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวนศาสตร์ แด่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพื้นพิภพ แด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และอนุมัติให้ปริญญากิตติมศักดิ์ แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 10 คน
ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวนศาสตร์ แด่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณที่ทรงปฏิบัติบำเพ็ญ ทั้งทางด้านพระพุทธศาสนา การศึกษา สังคม รวมถึงทำนุบำรุงศาสตร์ด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านวนศาสตร์ ซึ่งพระสังฆกรณียกิจจานุกิจเหล่านั้นล้วนเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ทั้งนี้ ทรงพระกรุณาประทานพระดำริและทรงประกอบพระกรณียกิจไว้เป็นอเนกปริยายในด้านวนศาสตร์ ได้แก่ ระบบนิเวศ (Ecosystem) ซึ่งเป็นแก่นของวิชานิเวศวิทยาป่าไม้ (Forest ecology) หนึ่งในหัวใจหลักของวิชาการทางด้านวนศาสตร์ (Forestry) กับการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน พระองค์ทรงมีปฏิปทาเป็นทั้ง นักป่าไม้ และ ครูป่าไม้ ผู้มีคุณธรรมสูงยิ่ง ดังจะเห็นได้จากวัตรปฏิบัติที่ทรงผูกพันกับวัดป่าและภูมิสถานป่ามาอย่างยาวนาน เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ยังทรงสนพระทัยด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ แหล่งน้ำ พัฒนาพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน อีกทั้งปลูกฝังค่านิยมและคุณธรรมจริยธรรมให้พุทธศาสนิกชนร่วมกันดำเนินการตามแนวทาง โครงการคืนธรรมชาติสู่ธรรม ในพระสังฆราชูปถัมภ์ หรือ Green Buddhism for Sustainable Development ซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องยาวนาน สาธุชนจำนวนมากร่วมกันปลูกป่า ปลูกต้นไม้ คืนธรรมชาติสู่ความอุดมสมบูรณ์แนวคิดต่าง ๆ เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าพระองค์มีความรู้ความใจในเรื่องการอนุรักษ์ (Conservation) ไม่ว่าการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ หรือ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ รวมทั้งทรงมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ (Forest restoration) ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าพระองค์ให้ความสำคัญกับ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable development) ซึ่งเป็นแนวคิดทางด้านวนศาสตร์ที่สำคัญมาก อาทิ วัดเขาไกรลาศ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นกรณีศึกษาในการนำหลักธรรมไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เป็นศาสนสถานที่อยู่คู่กับธรรมชาติและชุมชนได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช โปรดประทานพระดำริในการดำเนินโครงการโครงการธรรมจักรสีเขียว ไว้ให้กับกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อมอบรางวัลให้แก่วัด ชุมชน และราษฎรในท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมในงานด้านป่าไม้ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การปลูกป่า การป้องกันการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า การบำรุงดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างถูกต้อง
สรรพกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญมาโดยพระฐานะสกลมหาสังฆปริณายกเฉพาะอย่างยิ่งข้อความในพระคติธรรมที่ว่า “การสร้างสรรค์รมณียสถานสำหรับสรรพชีวิต ย่อมเป็นการเกื้อกูลกันอย่างไม่มีประมาณ เพราะชีวิตน้อยใหญ่ล้วนเกี่ยวพันพึ่งพาอาศัยกันได้ด้วยเมตตาธรรม” และ “การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ปลูก ดูแล และพิทักษ์ป่า โดยกุศโลบายอันชาญฉลาด ตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา ก่อให้เกิดคุณูปการต่อสังคมส่วนรวม” จึงสะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพ และพระปณิธานในการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางแห่งวนศาสตร์ สอดคล้องกับหลักวิชาการและศิลปวิทยาในปัจจุบันสมัย อันได้แก่ หลักด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ วนวัฒนวิทยา การจัดการป่าไม้ และการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน ซึ่งยังความอุดมสมบูรณ์เจริญแก่ประเทศชาติและความผาสุกแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า นับเป็นหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง เหมาะสม บริสุทธิ์ เพื่อต่อยอดให้เกิดสังคมวิถีพุทธที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม อยู่ร่วมกันกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างกลมกลืนและเกื้อกูลกัน
ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพื้นพิภพ แด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณ วรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพื้นพิภพ ได้แก่ ธรณีวิทยา อุทกวิทยา อุตุนิยมวิทยา และดาราศาสตร์ อันเป็นคุณูปการต่อพสกนิกรและวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมา ตั้งแต่การสนับสนุนเยาวชนให้ได้มีความรู้ ใฝ่รู้ เรียนรู้ จากต้นแบบโครงการพระราชดำริ ส่งเสริมให้คณาจารย์ได้พัฒนาตนเองให้มีความรู้วิทยาศาสตร์พื้นพิภพ สร้างรางวัลแก่ครูที่ทำงานเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาสในท้องถิ่นห่างไกล นักวิจัย นักวิชาการในกระทรวง กรมที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสพัฒนาความรู้ด้านธรณีวิทยา อุตุนิยมวิทยา การบริหารจัดการน้ำ การสำรวจน้ำใต้ดินผ่านโครงการพระราชดำริ หรือโครงการที่พระองค์ทรงให้การสนับสนุน ที่ต้องใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพื้นพิภพ
ปริญญากิตติมศักดิ์ แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 10 คน ได้แก่
วันที่ 9 ตุลาคม 2566
ศ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปริญญาสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาธารณสุขศาสตร์)
คณะสาธารณสุขศาสตร์
รศ.จุฑาทิพย์ ภัทราวาท ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เศรษฐศาสตร์สหกรณ์)
คณะเศรษฐศาสตร์
นายสมบูรณ์ อึงอารี ปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การจัดการ)
คณะศิลปะศาสตร์และวิทยาการจัดการ
วันที่ 10 ตุลาคม 2566
Professor Emeritus Edwin Rosenberg ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พลศึกษา)
คณะศึกษาศาสตร์
วันที่ 11 ตุลาคม 2566
ศ.พิเศษเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
(ศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) วิทยาลัยบูรณาการศาสตร์
นายกองเอก เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
(วิจัยและพัฒนาการเกษตร) คณะเกษตร กำแพงแสน
นายเข็มทัศน์ มนัสรังษี ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิทยาการพืชสวน)
คณะเกษตร กำแพงแสน
วันที่ 12 ตุลาคม 2566
นายจำลอง เติมกลิ่นจันทน์ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สัตวศาสตร์) คณะเกษตร
นายอนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วนศาสตร์) คณะวนศาสตร์
Professor Emeritus Tatsuji Seki ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (จุลชีววิทยา)
คณะวิทยาศาสตร์
ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / หัวหน้างานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์