สกสว.พร้อมเป็นโซ่ข้อกลางรับมือเอลนีโญ
สานทัพมหาดไทยหนุนทำแผนปฏิบัติการ
สกสว.รับเป็นโซ่ข้อกลางประสานทัพนักวิจัยสนับสนุนด้านวิชาการ ในการจัดทำแผนปฏิบัติการการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่เพื่อรับมือเอลนีโญ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานในกำกับ ให้ความช่วยเหลือสร้างกลไกวิชาการเสริมในการจัดทำแผนป้องกันน้ำท่วมและแก้ไขภัยแล้งระดับจังหวัด ตั้งเป้า ‘ลดเสี่ยง ลดภัย ยั่งยืน ลดความเสียหาย และฟื้นฟู’
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุมทำแผนปฏิบัติการ “การจัดบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือเอลนีโญ” ร่วมกับผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมถึงรับฟังข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับพื้นที่อย่างแท้จริง พร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ผศ.เชิญโชค ศรขวัญ รองผู้อำนวยการ สกสว. ระบุว่า สกสว.ยินดีเป็นโซ่ข้อกลางในการสนับสนุนเชิงวิชาการ ประสานนักวิจัยมหาวิทยาลัย ภาคส่วนต่าง ๆ ในการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานในกำกับจัดทำแผนปฏิบัติการรับมือเอลนีโญ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) อย่างเป็นรูปธรรมสู่การเสริมศักยภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่
ด้านนายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์เอลนีโญเป็นอย่างมาก แม้ประเทศไทยจะเผชิญกับความแห้งแล้ง แต่ขณะเดียวกันอาจมีฝนมากทำให้น้ำท่วมด้วย จึงขับเคลื่อนมาตรการป้องกันภัยแล้งและน้ำท่วมให้สอดคล้องกับสถานการณ์โดยใช้มาตรการของรัฐบาล สร้างความเข้าใจในการจัดการทั้งระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ อีกทั้งใช้เครื่องมือจัดการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และการดำเนินงานภายใต้แนวคิดทฤษฎีใหม่ ทั้งนี้เห็นว่าการทำงานของกระทรวงมหาดไทยและทีมวิจัยมีความสอดคล้องตรงกัน แต่จะทำอย่างไรให้ไปสู่แผนงานที่นักวิจัยดำเนินการในแต่ละพื้นที่ให้สามารถเดินไปด้วยกันโดยใช้งานวิจัยควบคู่ กระทรวงมหาดไทยจึงอยากขอความร่วมมือการใช้เทคโนโลยี แอปพลิเคชัน และปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยบริหารจัดการ และจะส่งข้อมูลเข้าส่วนกลางและจังหวัดได้อย่างไร
ขณะที่ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเสริมว่า กระทรวงได้จัดทำข้อมูลผังภูมิสังคม (Geo-social map) เพื่อการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เป็นผังข้อมูลใหญ่ทั้งเส้นทางน้ำ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในหลายมิติ เพราะน้ำสัมพันธ์กับทุกสิ่ง ซึ่งการบริหารจัดการน้ำและรองรับภัยพิบัติจะเป็นไปตามบริบทของภูมิสังคม ให้ความรู้ วิเคราะห์ปัญหาเชิงลุ่มน้ำ และทำงานร่วมกันในจังหวัดลงสู่พื้นที่ปฏิบัติการ
รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งการบริหารจัดการน้ำ เผยว่า ขณะนี้ได้สนับสนุนการจัดทำแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับจังหวัดร่วมกับทีมผู้ว่าราชการจังหวัด 3 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น กำแพงเพชร และน่าน มุ่งเน้นการวิเคราะห์ความเสี่ยงในแผนป้องกันน้ำท่วมและแก้ไขน้ำแล้งระดับจังหวัด โดยใช้ข้อมูลที่จากกรม จังหวัด และ อปท. เพื่อให้การเตรียมตัวของแต่ละพื้นที่ชัดเจนขึ้น เป็นไปตามสภาพทั่วไปของลุ่มน้ำและจังหวัด ทั้งมาตรการรับมือฤดูฝนและฤดูแล้ง แนวทางการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม-น้ำแล้ง และการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและแก้ไขฯ โดยมีเป้าหมาย ‘ลดเสี่ยง ลดภัย ยั่งยืน ลดความเสียหาย และฟื้นฟู’
“เราต้องจัดและใช้ข้อมูลที่มีอยู่ให้เป็นระบบมากขึ้น และหาแนวทางการพัฒนาแก้ไขร่วมกัน โดยมีข้อเสนอแนะว่าจะต้องสร้างกลไกวิชาการเสริมในการจัดทำแผนป้องกันน้ำท่วมและแก้ไขภัยแล้งระดับจังหวัด เช่น จัดทำคู่มือการจัดทำแผนฯ ให้กับส่วนกลางของกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งสร้างกลไกการส่งข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยา อุทกวิทยาและการวิเคราะห์ความเสี่ยง เพื่อการระวังและเตือนภัยระดับจังหวัด อบจ. อบต. โดยใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการน้ำทั้งระดับจังหวัดร่วมกับระดับพื้นที่ เช่น ระหว่างสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กระทรวงมหาดไทยผ่านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อบจ. อบต. และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตลอดจนสร้างกลไกการถ่ายทอดและพัฒนาบุคลากรให้ใช้งานได้ เช่น ใช้กลไกสถาบันการศึกษา สถาบัน ภาคเอกชน ร่วมกับสำนักงานจังหวัดและคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด” รศ. ดร.สุจริตกล่าว