มหาวิทยาลัยเกริก เป็นเจ้าภาพ จัดงานประชุมสมาคมมหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งเอเชียและการจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ครั้งที่ 1
วันที่ 12 กันยายน 2566 วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม สมาคมมหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งเอเชียและการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ครั้งที่ 1 วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก เรื่อง “ทบทวนการบูรณาการทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของโลกอิสลามในยุคปัจจุบัน” ซึ่งจัดโดยวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ,ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,สถาบันเทคโนโลยี อันดามัน อนาโตเลีย และสมาคมมหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งเอเชีย ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 14 กันยายน 2566 ณ มหาวิทยาลัยเกริก
นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกริกที่ได้เป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุมสมาคมมหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งเอเชียและการจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ครั้งที่ 1 วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก เรื่อง “ทบทวนการบูรณาการทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของโลกอิสลามในยุคปัจจุบัน” โดยมีอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย บูรไน และมัลดีฟส์ มาร่วมงานกว่า 10 สถาบัน และมีนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศมาร่วมงานกว่า 200 คน ในระหว่างวันที่ 12 – 14 กันยายน 2566 ณ ห้องประชุมวิชาการนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกริก
มหาวิทยาลัยเกริกได้รับมติเห็นชอบจากสมาชิกส่วนใหญ่ของสมาคมมหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งเอเชีย (Asian Islamic University Association, AIUA) เพื่อจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการพัฒนามาตรฐานและการยกระดับสถานะมหาวิทยาลัย ด้วยการสร้างความร่วมมือทางวิชาการทั้งในมิติของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัย การร่วมตีพิมพ์งานวิชาการ การแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักศึกษา ตลอดจนการหาแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือด้านอัตลักษณ์ของอิสสาม เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของดัชนีตัวชีวัดด้านการรักษาคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม และส่งเสริมความร่วมมือในระดับภาคการศึกษาสู่การสานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระยะยาว
นับตั้งแต่มีการก่อตั้งสมาคมในปี 2558 ณ ประเทศมาเลเซีย การจัดประชุมในครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในกรุงเทพและเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในมหาวิทยาลัยเกริก ซึ่งได้รับเกียรติจากสมาชิก AIUA จาก 84 มหาวิทยาลัย โดยผู้แทนของมหาวิทยาลัยเกริก ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม คณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ และอาจารย์อำพล ขำวิลัย ผู้ช่วยกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเกริกและรองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก เป็นผู้เสนอให้มหาวิทยาลัยเกริกเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม และสมาชิกของ AIUA สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเกริกเป็นสมาชิกถาวรพร้อมเป็นเจ้าภาพในการจัดงานในคราวประชุมใหญ่ AIUA ณ ประเทศบูรไนในช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2566 ที่ผ่านมา
การจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติและการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการจึงนับว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญของมหาวิทยาลัยเกริกภายใต้บริบทการนำของวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ เพื่อแสวงหาโอกาสด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระดับนานาชาติ และเป็นโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยทั้งจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย มัลดีฟส์ บูรไน ที่ให้ความสำคัญกับการลงนามความร่วมมือในวันดังกล่าว
จุดเด่นของมหาวิทยาลัยเกริกในขณะนี้ไม่ได้เพียงแต่ผลักดันเรื่องการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยเกริกได้ยกระดับมหาวิทยาลัยจนได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยระดับ 5 ดาวของ QS University Ranking อีกด้วย และกลายเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีนักศึกษาเข้ามาเรียนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีนักศึกษาจากประเทศจีน ซาอุดีอาระเบีย (มุวัลลัต) พม่า บังกลาเทศ ปากีสถาน อินโดนีเซีย และนักศึกษาไทยรวมแล้วประมาณ 7,000 คน
ศ.ดร. นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกริก ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาในระดับนานาชาติและพร้อมที่จะสนับสนุนการแลกเปลี่ยนนักศึกษา ตลอดจนพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยการผลักดันความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ โดยท่านอธิการบดีได้กล่าวว่า “วันนี้เราภูมิใจที่มหาวิทยาลัยเกริกได้รับการสนับสนุนจากสมาชิก AIUA ไว้วางใจเราให้จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการและประชุมวิชาการระดับนานาชาติ เรื่อง ทบทวนการบูรณาการทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของโลกอิสลามในยุคปัจจุบัน โดยมีมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศมาร่วมงานกว่า 40 สถาบัน”
ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม คณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ได้กล่าวใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ มหาวิทยาลัยเกริก ไม่เพียงแต่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย แต่มหาวิทยาลัยเกริกยังคงรักษาระดับคุณภาพและความนิยมของนักศึกษาที่มีความแตกต่างทางความเชื่อและศาสนา จนทำให้บรรยากาศของมหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยความเป็นนานาชาติอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันเห็นได้ไม่มากนักกับมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ในประเทศไทย อรกทั้งมหาวิทยาลัยยังรักษาระดับคุณภาพ โดยในปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเกริกเป็นมหาวิทยาลัยในลำดับที่ 5 ของประเทศไทย นับว่าเป็นโอกาสดีที่วิทยาลัยจะต่อยอดความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เพื่อพัฒนาโอกาสทางการศึกษาให้กับนักศึกษาและพัฒนาคุณภาพของคณาจารย์ต่อไป”