สันนิบาตสหกรณ์ ระดม สก.อิสลามในประเทศไทย ร่วม ถก ทิศทางการดำเนินงาน
วันที่ 19 สิงหาคม 2566 สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) จัดสัมมนา “ทิศทางการดำเนินงานและปัญหาอุปสรรคของกลุ่มสหกรณ์อิสลามในประเทศไทย” หวังศึกษาและกำหนดแนวทางในการพัฒนากลุ่มสหกรณ์อิสลาม ณ ห้องประชุมโรงแรม Southern Airport Hatyai จังหวัดสงขลา โดยมีนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯ สสท. เป็นประธานในพิธิเปิด/บรรยายพิเศษ,นายวรพจ สะรอนี ประธานฯ สสจ.ปัตตานี เป็นผู้กล่าวรายงาน,ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูวิทย์ บารู ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์อิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวต้อนรับ ทั้งนี้ นายจรัล เอี่ยมสำอางค์ กรรมการ รวมถึงนายปัณฐวิชญ์ มุ่งสมัครศรีกุล ผู้อำนวยการ ,นายอับดุลรอชิด เจะนะ ผู้จัดการชุมนุมสหกรณ์อิสลามแห่งประเทศไทย, นายชรินทร แพทยนันทเวท ประธานสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดสงขลา , นายมุฮีมมัด มินเด็น ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรละงู จำกัด และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นเกียรติ
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯ สสท. เปิดเผย ว่า สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และชุมนุมสหกรณ์อิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด ร่วมจัดโครงการสัมมนา “ทิศทางการดำเนินงานและปัญหาอุปสรรคของกลุ่มสหกรณ์อิสลามในประเทศไทย” เพื่อเพื่อรับทราบปัญหาและอุปสรรคการดำเนินงานของกลุ่มสหกรณ์อิสลามเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอันสำคัญของประเทศ ที่มีสมาชิกส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีลักษณะวิธีการในการบริหารจัดการและการดำเนินการเฉพาะตามหลักศาสนา โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการระดมสหกรณ์อิสลามทั้งหมดมาร่วมสัมมนาครั้งนี้เพื่อร่วมกันศึกษากำหนดแนวทางในการพัฒนากลุ่มสหกรณ์อิสลาม ซึ่งการมีลักษณะและวิธีการดำเนินการเฉพาะตามหลักศาสนา ควรสอดคล้องกับแผนพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐)
ด้านนายวรพจน์ สะรอนี ประธานกรรมการสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดปัตตานี (สสจ.ปัตตานี) และกรรมการชุมนุมสหกรณ์อิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์อิสลามเป็นสหกรณ์ที่รวมกลุ่มโดยประชากรชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม มีการจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่และดำเนินงานทางการเงินที่เป็นไปตามหลักการของศาสนาอิสลาม เพื่อส่งเสริมให้ชาวมุสลิมมีการออมทรัพย์ สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และยังสามารถทำธุรกรรมทางการเงินตามหลักการศาสนา ภายใต้ระบบการเงินที่ปลอดดอกเบี้ย ซึ่งมีการจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ โดยสหกรณ์อิสลามมีการเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และการดำเนินงานสหกรณ์อิสลามด้วยหลักการและวิธีการดำเนินงานที่เป็นไปตามหลักชะรีอะห์ หรือกฎหมายอิสลาม (Shariah Law) นั้น มักประสบปัญหาและมีอุปสรรค เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายและระเบียบที่ชัดเจนในการกำกับดูแลของภาครัฐ เพราะสหกรณ์อิสลามไม่ได้ถูกกำหนดเป็นประเภทสหกรณ์อิสลามเป็นการเฉพาะในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นควรเพิ่มสหกรณ์อิสลามหรือสหกรณ์ปลอดดอกเบี้ย เป็นสหกรณ์ประเภทที่ 8 เพื่อให้สหกรณ์สามารถใช้เครื่องมือทางธุรกรรมต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับหลักชะรีอะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ