สถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สวนสุนันทา ผลิตกระดาษจากกล้วยหอมทองเหลือทิ้ง สร้างมูลค่าเพิ่มรายได้เกษตรกร
ดร.ภานุ พัฒนปณิธิพงศ์ สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและสินค้าไลฟ์สไตล์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดเผยว่า ‘กล้วยหอมทอง’ เป็นสินค้าเกษตรของไทยที่ได้รับความนิยม เป็นที่ต้องการของตลาด และแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในหลายพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาค แต่ด้วย ‘กล้วยหอมทอง’ เป็นผลไม้เขตร้อน อายุการเก็บรักษาค่อนข้างสั้น ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อม และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในแต่ละฤดูกาล ล้วนส่งผลกระทบต่อผลผลิต ตกเกรด ไม่ได้มาตรฐาน และปัญหาอื่นๆ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เรื่องการพัฒนาส่งเสริมศักยภาพสินค้า เกษตรกร ชุมชน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา จึงได้ลงพื้นที่ศึกษาสภาพสถานการณ์และศักยภาพการปลูกกล้วยหอมทองในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เนื่องจากเป็นพื้นที่ปลูกใหม่ มีระบบนิเวศน์กับสภาพแวดล้อมที่ยังสมบูรณ์ ปัญหาแมลง ต้นทุนค่าปุ๋ยและสารเคมีน้อย จึงทำให้ผลตอบแทนต่อไร่สูงกว่าพืชเดิมที่เคยปลูกมานาน แต่มีการสะสมของโรค
“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองบ้านโคก” อำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี เป็นผู้นำเครือข่ายในพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพด้านการผลิตและจำหน่ายกล้วยหอมทอง โดยมีพื้นที่ปลูก รวมกว่า 60 ไร่ 25,000 ต้น ผลผลิต300-500 ตัน ส่วนเหลือทิ้ง 4,000-6,000 ตัน/ไร่ ช่องทางการจำหน่ายหลัก คือ ตลาดในประเทศและต่างประเทศ ด้านการบริหารจัดการทรัพยากร การผลิต การแปรรูป การจัดจำหน่าย พบว่ายังมีข้อจำกัดหลายประการในการแข่งขันตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำจนถึงปลายน้ำ และส่วนใหญ่จะละเลยการให้ความสำคัญและขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดการด้านการออกแบบสภาพแวดล้อมพื้นที่กิจกรรม การจำหน่าย ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนมีภาพลักษณ์เป็นที่จดจำ ช่วยเพิ่มมูลค่าและยกระดับสินค้า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้บนพื้นฐานการนำทุนวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของชุมชนมาต่อยอดเพิ่มมูลค่า ชุมชนมีความต้องการหาวิธีการแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่ากล้วยตกเกรด และของเหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวหรือแปรรูป องค์ความรู้ที่จะมาช่วยเสริมศักยภาพของชุมชนให้สามารถดำเนินการ บริหารงานจัดการด้านการผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพ สามารถจัดการให้เกิดมูลค่าและคุณค่ากับผลผลิตตกเกรดได้
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา จึงนำการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้ ภายใต้แนวคิด BCG Model นำองค์ความรู้ด้านการแปรรูปของเหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตนำสู่วิธีการแปรรูปเป็นกระดาษกล้วยหอมทอง ซึ่งต้นกล้วยสด 1,000 กิโลกรัม สามารถแปรรูปเป็นเยื่อกระดาษได้ 500 กิโลกรัม ผลิตกระดาษได้ จำนวน 2,000-3,000 แผ่น สนนราคา 40-60 บาท/แผ่น สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและกลุ่ม 80,000-150,000 บ./ไร่
“เรานำต้นกล้วยที่เป็นของเหลือทิ้งมาวิจัยพัฒนาโดยใช้ ลำต้น ก้าน โคนใบ นำมาแปรรูปเป็นกระดาษด้วยวิธีการภูมิปัญญาชาวบ้าน แบบทำมือ หรือกึ่งแมสในระดับอุตสาหกรรมได้ แล้วต่อยอดไปเป็นผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ โดยกระดาษตัวนี้จะใช้วัตถุดิบส่วนผสมที่เราได้คิดค้นพัฒนาขึ้นมาเป็น Food grade คือสามารถใช้กับอาหารได้ มีคุณสมบัติปลอดภัย เนื่องด้วยการปลูกกล้วยของกลุ่มเป็นแบบออแกนิคอยู่แล้ว การผลิตจะไม่ใช้กลุ่มเคมีที่มีสารตกค้าง เป็น Food grade ที่มีความปลอดภัยมาก โดยแนวคิดนี้จะถ่ายทอดให้กับกลุ่ม/ชุมชนต่อไปที่จะพร้อมยอมรับ รวมทั้งนำไปขยายผลให้กับเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมทองใน จ.อุดรธานี ต่อไป” ดร.ภานุ กล่าว