สกสว.ชี้แผนงานวิจัยขนาดใหญ่มีผลตอบแทน1.75เท่า บอร์ดแนะผลประเมิน ววน. เพื่อขับเคลื่อนจิ๊กซอว์ใหญ่

สกสว.ชี้แผนงานวิจัยขนาดใหญ่มีผลตอบแทน1.75เท่า

บอร์ดแนะผลประเมิน ววน. เพื่อขับเคลื่อนจิ๊กซอว์ใหญ่

 

สกสว.เผยตัวเลขแผนงานวิจัยและนวัตกรรมขนาดใหญ่มีผลตอบแทนการลงทุนรวมอยู่ที่ 1.75 เท่า ขณะที่บอร์ดติดตามและประเมินผลฯ แนะแนวทางการใช้ผลการประเมินเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบ ววน. ของประเทศต้องขับเคลื่อนจิ๊กซอว์ขนาดใหญ่ และมีองคาพยพร่วมแก้ปัญหาที่เป็นจุดตายอย่างเป็นระบบ

นายกานต์ ตระกูลฮุน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม โดยมีวาระสำคัญคือ การเห็นชอบผลการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของแผนงานวิจัยและนวัตกรรมขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดย ผศ. ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มสมบุญชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ ซึ่งแผนงานวิจัยและนวัตกรรม 7 แผนงาน ได้แก่ แผนงานวิจัยแนวหน้าด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนายา โครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การขับเคลื่อน BCG  แผนงานวิจัยจีโนมิกส์ประเทศไทย แผนงานขยะเป็นศูนย์ทุกแห่ง แผนงานมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ และแผนงานการวิจัยและพัฒนาเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากผลการประเมินพบว่ามีผลตอบแทนการลงทุนรวมของแผนงานอยู่ที่ 1.75 เท่า และผลตอบแทนต่องบวิจัยของโครงการที่เป็นกรณีศึกษาอยู่ที่ 2.98 เท่า

ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมคือ ปัจจุบันนักวิจัยยังเน้นการสร้างผลผลิต จึงอยากให้เน้นการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบมากขึ้น โดยโครงการที่มีผู้ใช้ประโยชน์ร่วมลงทุนส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จอย่างมาก และควรส่งต่องานวิจัยให้เกิดความยั่งยืน นักวิจัยควรมีความเชี่ยวชาญหลายสาขาและเข้าใจพื้นที่ ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็วมีผลต่อการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ อีกทั้งต้องประเมินความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของนโยบายและความเสี่ยงต่าง ๆ ด้วย พร้อมกับมีข้อเสนอแนะในการสร้างความเข้าใจเรื่องการประเมินผลลัพธ์ผลกระทบที่มีมาตรฐานเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน มีผู้เชี่ยวชาญร่วมทำ การประเมินอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เห็นปัญหาและแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง มีฐานข้อมูลที่สมบูรณ์ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประเมินที่เป็นระบบมากขึ้น

สำหรับแนวทางการประเมินแผนงานวิจัยและนวัตกรรมขนาดใหญ่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่ประชุมเห็นชอบการพิจารณากรอบการประเมินผลกระทบแผนงานวิจัยและนวัตกรรม หลักเกณฑ์การคัดเลือก กรอบและแนวทางการประเมินที่ได้รับมติความเห็นชอบจากคณะกรรมการติดตามและประเมินผลฯ เช่น นโยบายสำคัญของรัฐบาล (วาระแห่งชาติ) แผนงานกระจายทุกแพลตฟอร์มเพื่อสะท้อนผลการประเมินได้ครอบคลุมในทุกมิติ มีการนำไปใช้ประโยชน์ โดยมีแผนงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะประเมินในปีงบ 2566 แยกรายสาขา ประกอบด้วย 5 กลุ่ม รวม 18 แผนงาน ได้แก่ การแพทย์และสุขภาพ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อภาคอุตสาหกรรม สังคมและชุมชน งานวิจัยพื้นฐาน และการพัฒนากำลังคน

นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีข้อเสนอแนะต่อการระดมสมองเรื่อง “แนวทางการใช้ผลการประเมินเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบ ววน. ของประเทศ” ในการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าควรทำงานเชื่อมโยงระหว่างหน่วยบริหารและจัดการทุน และมองภาพใหญ่โดยมุ่งเป้าที่การพัฒนาระบบ ววน. ควรมีผลลัพธ์ที่ชัดเจนและจับต้องได้ สามารถนำไปปฏิบัติได้ เพื่อขับเคลื่อนจิ๊กซอว์ใหญ่ทั้งระบบให้มีคำตอบที่ชัดเจน มีองคาพยพที่ทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เป็นจุดตายของประเทศอย่างเป็นระบบ เช่น ผู้สูงอายุ น้ำ งานวิชาการด้านเกษตร

นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบการรายงานผลโครงการ “การติดตามผลสัมฤทธิ์ของตัวชี้วัดสำคัญตามแผนด้าน ววน. พ.ศ. 2563-2565” ด้านสังคมและทรัพยากร โดย ผศ. ดร.ปภัศร ชัยวัฒน์ สถาบันวิจัยและพัฒนาศักยภาพสังคม มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย และด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ BCG และการแก้ไขวิกฤติ ศ. ดร.ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ชัด คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยที่ประชุมให้ข้อเสนอแนะว่างานวิจัยที่สร้างผลกระทบสูงต้องบูรณาการข้ามศาสตร์สาขา และควรพิจารณาตัวแปรทางเศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจโลก มีระบบวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ซึ่งเป็นองค์ประกอบของระบบเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงกำหนดตัวชี้วัดที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน สามารถแปรเป้าหมายระยะยาวให้เป็นเป้าหมายระยะสั้นที่ติดตามประเมินผลได้และประสบความสำเร็จในระยะยาว มีตัวแทนของกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ในการติดตามประเมินผล และการจัดทำคู่มือ/แนวทางการพัฒนาตัวชี้วัด ววน. ทั้งด้านกระบวนการและเทคนิค

รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ระบุว่าปัจจุบันการจัดทำแผนและผลสัมฤทธิ์ของตัวชี้วัดสำคัญกำกับดูแลโดยอนุกรรมการด้านแผนและกรอบงบประมาณของคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกำลังทบทวนผลสัมฤทธิ์ของตัวชี้วัดสำคัญปี 2566-2570 ซึ่งพยายามใช้หลักการที่สอดคล้องกับกรอบ SMART (Smart, Measurable, Achievable, Relevant, Timely) เพื่อปรับปรุงตัวชี้วัด โดยพิจารณาความต้องการของประเทศและทุกภาคส่วนทั้งเอกชนและสังคมให้มากขึ้น รวมทั้งจัดทำเส้นทางสู่ผลกระทบ และข้อต่อสำคัญในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์