กรมชลประทาน เผยผลการศึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำ ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง จ.อุดรธานี
ชู 4 โครงการสำคัญ แก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ เพื่อดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี
วันที่ 19 พ.ค.66 กรมชลประทาน ได้เปิดเวทีการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 (ปัจฉิมนิเทศโครงการ) โครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำ ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง จ.อุดรธานี ณ ห้องประชุมฟ้าหลวง5 โรงแรมนภาลัย จ.อุดรธานี โดยมีนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานเปิดการประชุม และนายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน และผู้แทนหน่วยงานเกี่ยวข้อง ประชาชน เข้าร่วมกิจกรรม และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน
นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2561 ในการประชุมร่วม กรอ. เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 มีข้อสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ศึกษาความเหมาะสม การพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง และจัดทำแผนหลัก (Master Plan) เพื่อให้ได้โครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วนเป็นลำดับต้น ๆ ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และบรรเทาอุทกภัย สำหรับนำไปศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ครอบคลุมตามมาตรการกลยุทธ์ต่าง ๆ ทั้ง 6 ด้าน ที่ขับเคลื่อนโดยหลายหน่วยงาน เพื่อสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต น้ำอุปโภคบริโภค ลดความเสียหายจากอุทกภัย สามารถจัดการคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐาน มีการบริหารจัดการพื้นที่ต้นน้ำ ดิน ป่าไม้ รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ ทั้งมิติ วิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
จากการศึกษาได้รวบรวมแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของหน่วยงานต่าง ๆ รวม 319 โครงการ ประกอบด้วย โครงการของกรมชลประทาน 174 โครงการ กรมทรัพยากรน้ำ 18 โครงการ กรมโยธาธิการและผังเมือง 10 โครงการ และหน่วยงานอื่น ๆ จำนวน 116 โครงการ และจากการเสนอแนะโดยที่ปรึกษาจำนวน 16 โครงการ รวมแผนงานทั้งหมด 335 โครงการ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 99,728 ไร่ พื้นที่รับประโยชน์ 24,289 ไร่ เพิ่มความจุได้ 103.36 ล้าน ลบ.ม. งบประมาณในการดำเนินการรวมประมาณ 17,104 ล้านบาท
ทั้งนี้ ได้ดำเนินการคัดเลือกโครงการที่มีความสำคัญในระดับต้น ๆ อย่างน้อยจำนวน 5 โครงการ ได้แก่
1.โครงการฝายบ้านกุดหมากไฟ ตั้งอยู่บริเวณบ้านกุดหมากไฟ ตำบลกุดหมากไฟ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่รับน้ำฝน 104.13 ตร.กม. มีปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 22.99 ล้าน ลบ.ม. เป็นอาคารประเภทฝายทดน้ำคอนกรีต สูง 2.50 ม. ยาว 20 ม. มีอัตราการไหลออกแบบฝาย 45.79 ลบ.ม./วินาที สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานด้วยระบบแรงโน้มถ่วง 8,399 ไร่
2.โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านขอนยูงน้อย ตั้งอยู่บริเวณบ้านขอนยูงน้อย ตำบลขอนยูง อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่รับน้ำฝน 30.90 ตร.กม. ปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 9.96 ล้าน ลบ.ม. เป็นเขื่อนดินแบบแบ่งส่วน สูง
7.00 ม. สันเขื่อนยาว 884 ม. พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 1,205.20 ไร่ ความจุที่ระดับเก็บกักปกติ 4.38 ล้าน ลบ.ม. สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานด้วยระบบแรงโน้มถ่วง 6,789 ไร่ รวมทั้งผันน้ำส่วนเกินโดยปล่อยลงหน้าประตูระบายน้ำห้วยเชียง 2 และผันต่อผ่านคลองส่งน้ำโครงการประตูระบายน้ำห้วยเชียง 2 ปล่อยลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนห้วยหลวงได้ปีละ 2.06 ล้าน ลบ.ม.
3.โครงการประตูระบายน้ำห้วยเชียง 2 ตั้งอยู่บริเวณบ้านดงธาตุ ตำบลกุดจับ อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี
มีพื้นที่รับน้ำฝน 21.83 ตร.กม. มีน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 20.47 ล้าน ลบ.ม. เป็นอาคารประเภทประตูระบายน้ำแบบบานตรง กว้าง 6 ม. สูง 4.50 ม. จำนวน 2 ช่อง อัตราการไหลออกแบบ 37.63 ลบ.ม./วินาที สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานด้วยระบบแรงโน้มถ่วง 1,308 ไร่ รวมทั้งผันน้ำส่วนเกินผ่านคลองส่งน้ำปล่อยลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนห้วยหลวงได้ประมาณปีละ 4.13 ล้าน ลบ.ม.
4. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ตำบลน้ำพ่น ศึกษาวางโครงการพื้นที่บริเวณบ้านหนองแซงสร้อย ตำบลน้ำพ่น อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นโครงการประเภทอ่างเก็บน้ำได้ แต่จากการประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยยางล่างไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขื่อนห้วยหลวงในอดีต กรมชลประทานจึงได้ยุติการพัฒนาส่วนนี้ และประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวได้เสนอแนวทางในการพัฒนาจำนวน 3 แนวทาง คือ 1)ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหนองแซงสร้อย 1 บริเวณด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านหนองแซงสร้อย 2) ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหนองแซงสร้อย 2 บริเวณด้านทิศใต้ของหมู่บ้านหนองแซงสร้อย 3) การขุดลอกบริเวณเขื่อนห้วยหลวงเพื่อเพิ่มปริมาตรกักเก็บน้ำ โดยเสนอให้ขุดลอกตะกอนในอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงและก่อสร้างแนวคันดินให้เป็นถนนรอบอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง และข้อเสนอแนะจากการศึกษาการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ตำบลน้ำพ่น หากภายหลังประชาชนในพื้นที่มีความต้องการพัฒนาโครงการด้านแหล่งน้ำ สามารถดำเนินการพัฒนาเป็นโครงการประเภทประตูระบายน้ำได้ คือ แนวทางที่ 4 เสนอแนะเพิ่มเติม ประตูระบายน้ำห้วยยางล่าง โดยการพัฒนาอาคารหัวงานเป็นประตูระบายน้ำ บริเวณที่เคยเสนอเป็นที่ตั้งเขื่อนกักเก็บน้ำ โดยอาคารประเภทประตูระบายน้ำแบบบานตรงกว้าง 4 ม. สูง 3 ม. จำนวน 2 ช่อง
5. โครงการบริหารจัดการน้ำประตูระบายน้ำบ้านสามพร้าว ประตูระบายน้ำบ้านสามพร้าวสร้างปิดกั้นลำน้ำห้วยหลวง ตั้งอยู่ที่ตำบลสามพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2533 เป็นประตูระบายน้ำบานตรง 5 บาน ความสูงบาน 3.80 ม. มีพื้นที่รับน้ำฝน 1,970.56 ตร.กม.ปริมาณน้ำท่ 61 ล้าน ลบ.ม./ปี ระดับเก็บกักปกติ +166.36 ม.รก. ความจุเก็บกัก 1.88 ล้าน ลบ.ม. อัตราการระบายน้ำ สูงสุด ช่องละ 22.80 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งหมด 114 ลบ.ม/วินาที