นักเรียนโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย – เตรียมอุดมศึกษา – บดินทรเดชา ได้เป็นตัวแทนประเทศไทย
เข้าร่วมการแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 16
รองศาสตราจารย์ ดร.อภิสิฏฐ์ ศงสะเสน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ประธานศูนย์ สอวน.วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าการแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 3 The Third Thailand Earth Science Olympiad (The 3rd TESO) ซึ่ง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.) จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 1 – 6 พฤษภาคม 2566 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ โดยมีนักเรียนจากศูนย์ สอวน. วิชาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ 7 ศูนย์ทั่วประเทศ เข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 42 คน อาจารย์หัวหน้าทีมและรองหัวหน้าทีม รวม 14 คน คณะกรรมการออกข้อสอบ จำนวน 8 คน อาจารย์ผู้เป็นกรรมการกลาง 30 คน การแข่งขันแบ่งออกเป็นการสอบภาคทฤษฎี และการสอบภาคปฏิบัติ รวมถึงการทัศนศึกษาของอาจารย์และนักเรียนที่โรงเรียนธรรมชาติป่าชายเลน จังหวัดสมุทรสาคร ทั้งนี้ เพื่อคัดเลือกนักเรียนผู้ที่มีคะแนนสูงสุด 4 อันดับแรก ให้เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 16 ในรูปแบบออนไลน์
ผลการแข่งขัน มีดังนี้ นักเรียนที่ได้รับเหรียญทองและเป็นตัวแทนประเทศไทย จำนวน 4 คน ได้แก่ 1. นางสาวอาคิรา รัตนาธาร โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ศูนย์ สอวน. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2. นายอติวิชญ์ วิชิตตระกูลถาวร โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ผู้แทนศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3. นางสาวพุฒิตา พุฒิโภคิน โรงเรียน บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ศูนย์ สอวน. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 4. นายวสุธันย์ วิศรุตมัย โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ผู้แทนศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งนี้ นักเรียนได้กล่าวถึงความรู้สึกในการสอบแข่งขันครั้งนี้ว่า “ ข้อสอบยาก ไม่เคยทำมาก่อน เป็นประสบการณ์ที่ดี จะนำข้อผิดพลาดต่าง ๆ ไปปรับปรุง รวมทั้งอ่านหนังสือทบทวน และ ฝึกทำโจทย์ข้อสอบนานาชาติให้มากขึ้นกว่าเดิม และขอขอบคุณอาจารย์และเจ้าหน้าที่ศูนย์ สอวน.วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ให้การดูแลต้อนรับอย่างดียิ่ง”
นอกจากนี้การแข่งขันยังมีรางวัลพิเศษสำหรับผู้ทำคะแนนสูงสุดในแต่ละประเภท ดังนี้ รางวัลผู้ทำคะแนนทฤษฎีสูงสุด และรางวัลคะแนนรวมสูงสุด ได้แก่ นางสาวอาคิรา รัตนาธาร โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ศูนย์ สอวน. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รางวัลคะแนนปฏิบัติการสูงสุด และ รางวัลคะแนนรวมสูงสุดภูมิภาค ได้แก่ นายอติวิชญ์ วิชิตตระกูลถาวร โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ผู้แทนศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำหรับพิธีปิดการแข่งขันจบลงที่พิธีส่งมอบธงศูนย์เจ้าภาพจัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 4 โดยรศ.ดร.อภิสิฏฐ์ ศงสะเสน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และ ประธานศูนย์ สอวน.วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่งมอบธงเจ้าภาพให้กับ ดร.พิชาวุฒิ มานพกาวี ประธานสาขาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ครั้งที่ 4 ประจำปี 2567 ต่อไป
ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / หัวหน้างานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์