ปปส.ร่วมกับ บก.น.9 สร้างภาคีเครือข่ายปราบยา-รักษาสัมพันธ์ในครอบครัว
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 3 พ.ค. พล.ต.ท.นพดล ศรสำราญ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ตร.พร้อมด้วยพล.ต.ต.สำเริง สวนทอง รอง ผบช.น. พ.ต.อ.ธีรชัย เด็ดขาด รอง ผบก.น.9 พ.ต.อ.ไพโรจน์ นาเมืองรักษ์ ผกก.สน.หนองค้างพลู และนายอุดมชัย โลหะณุต ผอ.ปปส.กทม.เดินทางไปตรวจเยี่ยมและขับเคลื่อนโครงการชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด ณ ชุมชนกองขยะ ซอยเพชรเกษม 104 แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กทม. ทางยุทธศาสตร์การแสวงหาภาคีเครือข่ายเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดแบบครบวงจร โดยมี นายบรรจง แซ่อึ้ง ประธานชุมชนฯ นำชาวบ้านซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายเข้าร่วมกิจกรรม อย่างพร้อมเพียงกัน
พล.ต.ต.สำเริง กล่าวว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาความมั่นคงที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารและการพัฒนาประเทศทั้งในพื้นที่หมู่บ้าน ชุมชน ปัญหาทางด้านสังคมเศรษฐกิจสาธารณสุข และความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน การติดยาเสพติดเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และอาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อสังคมและประเทศชาติ มีการคาดการณ์แนวโน้มว่าจำนวนผู้เสพผู้ติดยาเสพติดจะเพิ่มขึ้นตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมคือมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับปัญหาเศรษฐกิจการศึกษาโครงสร้างและสัมพันธภาพของครอบครัว การเลี้ยงดู ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งปัญหาทางอาชญากรรมหลายประเภทที่เกิดขึ้นเช่น คดีข่มขืน ฆ่า ลักทรัพย์ วิ่งราวชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ทำร้ายร่างกาย เป็นต้น โดยผู้ก่อเหตุแต่ละคดีมักเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดไม่ว่าจะฐานะเป็นผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้เสพหรือผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ผลกระทบที่เกิดจากยาเสพติดเป็นตัวบ่อนทำลายความสงบสุขของประชาชนในการดำรงชีวิตอย่างปกติสุขในปัจจุบัน คณะทำงานเล็งเห็นว่าเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่ครอบครัวให้ตระหนักถึงโทษพิษภัยของยาเสพติดตลอดจนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในหมู่บ้านและชุมชน จึงเกิดโครงการนี้ขึ้นเพื่อให้ตระหนักถึงพิษภัยของยาเสพติด โดยอันดับแรกในการแก้ไขเรื่องปัญหายาเสพติดนั้นต้องเริ่มมาจากครอบครัว เพราะถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อผลให้สมาชิกในครอบครัวเข้าสู่วงจรของปัญหายาเสพติด
“จากการศึกษาเยาวชนในสถานพินิจที่กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเปรียบเทียบกับเยาวชนในสถานศึกษาทั่วไปพบว่าพลังครอบครัวของเยาวชนในสถานพินิจมีความแตกต่างกับครอบครัวเยาวชนทั่วไปทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งเสริมสนับสนุนและช่วยเหลือ ด้านการเรียน การได้รับคำปรึกษาหารือหรือคำแนะนำจากผู้ปกครองการมีระเบียบกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนของครอบครัว การได้รับความรักและการสนับสนุนที่ดีจากครอบครัว ล้วนเป็นสิ่งสำคัญจึงเห็นได้ว่าเยาวชนที่ประสบปัญหากับยาเสพติดส่วนหนึ่งมาจากการขาดพลังของครอบครัวที่จะคอยดูแลสมาชิกให้ห่างไกลจากยาเสพติด ดังนั้นการสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ลูกหลานหรือสมาชิกภายในครอบครัวสามารถคุ้มภัยจากยาเสพติดได้” พล.ต.ต.สำเริง กล่าว
พ.ต.อ.ไพโรจน์ กล่าวว่า พื้นที่ชุมชนกองขยะมีเนื้อที่จำนวน 16 ไร่ เพื่อการแก้ไขปัญหาอันจะนำไปสู่การลดผลกระทบที่เกิดจากปัญหายาเสพติดในสังคม สร้างความมั่นคงปลอดภัยและลดความเดือดร้อนของประชาชนจากผลกระทบดังกล่าว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและภาคีเครือข่าย สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนที่อยู่อาศัยพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเฝ้าระวังและสำรวจ ค้นหาผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดด้วยวิธีต่างๆ ตามความเหมาะสมนำไปบำบัดรักษาตามกระบวนการของหน่วยงานและดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาของแต่ละบุคคลต่อไป ซึ่งระยะเวลาดำเนินการตามโครงการฯ ตั้งแต่ 1 เม.ย 2566 – 30 มิย.2566 จากจำนวนประชากรทั้งหมด 650 คน เราได้มีการแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม โดยมีผู้นำแต่ละกลุ่มคอยควบคุมดูแล เป้าหมายประชากร ที่ต้องผ่านการ เอ็กซเรย์ จำนวน 430 คน ผ่านการเอ็กซเรย์แล้ว จำนวน 137 คน สมัครใจบำบัดเอง จำนวน 18 คน ทำ MOU จำนวน 60 ครัวเรือน.