บทสรุปจากการเสวนา เรื่อง “ฝุ่นพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดน แก้ไม่ได้จริงเหรอ? : มุมมองเชิงเศรษฐศาสตร์”
โดยศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ และงานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกันจัดงานเสวนาเรื่อง “ฝุ่นพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดน แก้ไม่ได้จริงเหรอ? : มุมมองเชิงเศรษฐศาสตร์” เมื่อวันศุกร์ที่ 28 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ที่บูรณาการข้ามศาสตร์จากผู้เชี่ยวชาญในการจัดการฝุ่นพิษ PM 2.5 ข้ามพรมแดนซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยอย่างมาก โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.กอบศักดิ์ วันธงไชย ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการไฟป่าและคณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ผศ.ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มสมบุญชัย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ให้เกียรติเป็นผู้ดำเนินรายการ งานนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในงานเสวนา และมีกล่าวต้อนรับและกล่าวรายงาน โดย ผศ.ดร.ธนาภรณ์ อธิปัญญากุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช กล่าวถึงผลกระทบของฝุ่นพิษ PM2.5 ต่อสุขภาพและผลกระทบเชิงเศรษฐศาสตร์ของฝุ่นพิษ PM2.5 ต่อครัวเรือนไทย ซึ่งพบว่า มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุทำเกิดการเสียชีวิตกว่า 7 ล้านคน/ปี และก่อให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย อาทิ มะเร็งปอด มะเร็งตับ หัวใจล้มเหลว หลอดเลือดในสมองอุดตัน สมองเสื่อม หอบหืด ฯลฯ และสร้างมูลค่าความเสียหายต่อครัวเรือนไทยถึง 2.173 ล้านล้านบาทในปี 2562 โดยในปี 2566 ล่าสุด ฝุ่นพิษ PM2.5 ทั้งในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ หนักสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งสาเหตุหลักส่วนหนึ่งมาจากฝุ่นพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยจำนวนจุดความร้อนในอาเซียนตอนบนทำสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 9 ปี! ส่วนหนึ่งของปัญหามาจากการที่ภาคเอกชนของไทยมีส่วนสนับสนุนการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จากสถิติของ Trademap (2023) พบว่า ไทยนำเข้าข้าวโพดจากเมียนมาร์สูงสุดเป็นอันดับ 1 คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านบาท โดยการนำเข้าได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 62 หลังรัฐไทยเข้มงวดกับการเผาในที่โล่งแจ้ง นอกจากนั้น ไทยยังส่งออกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดไปเมียนมาร์เป็นอันดับ 2 อีกด้วย
ผศ.ดร.กอบศักดิ์ วันธงไชย ได้นำเสนอสถานการณ์ไฟป่าและปัญหาในการจัดการไฟป่าในประเทศไทยซึ่งพบว่า ไฟป่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและมีความรุนแรง ความถี่มากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและมีกิจกรรมต่างๆ ที่มีความเสี่ยงให้เกิดไฟในป่า โดยไฟที่เกิดขึ้นเป็นไฟที่มีสาเหตุมาจากมนุษย์ทั้งสิ้น เพื่อหวังใช้ไฟเป็นเครื่องมือในการเก็บหาของป่า (เช่น ผักหวาน เห็ดเผาะ) ล่าสัตว์ หรือใช้ไฟเนื่องจากความขัดแย้งฯ รวมทั้งมีการใช้ไฟเพื่อกำจัดวัสดุการเกษตรแล้วลามเข้าสู่พื้นที่ป่าใกล้เคียง โดยไฟป่ามักจะเกิดขึ้นในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ เป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นในปีที่สภาพอากาศแล้งจัดอาจเกิดไฟไหม้ลุกลามเข้าไปในป่าดิบ เช่น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ได้ สภาพการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ก็พบกับปัญหาไฟป่าเช่นเดียวกัน สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดการไฟป่าของประเทศ ได้แก่ กรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และมีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในแต่ละปีการจัดการไฟของประเทศด้วยหน่วยงานหลักดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมพื้นที่ป่าทั้งประเทศด้วยข้อจำกัดของอัตรากำลังและงบประมาณ
ด้าน รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม ได้กล่าวในประเด็น “เข้าใจอาเซียน …..เข้าใจหมอกควันข้ามแดนในอาเซียน” โดยสะท้อนมุมมองด้านกฎหมายซึ่งสรุปได้ว่า การจะพิจารณาว่า “เราจะแก้ปัญหา PM 2.5 ข้ามแดนได้หรือไม่ได้” นั้น มีปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน เนื่องจากปัญหาที่มีลักษณะ “ข้ามพรมแดน” นั้นเป็นเรื่องที่ลำพังประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถจัดการได้เองโดยลำพัง แม้จะจัดการปัญหาภายในประเทศดีที่สุดเพียงใดก็ตาม ดังนั้น จึงต้องพิจารณาองค์ประกอบในระดับอาเซียนด้วย ซึ่งก็ต้องทำความเข้าใจอาเซียนให้ถูกต้องก่อนด้วยว่าอาเซียนนั้นแตกต่างจากสหภาพยุโรปหรือ EU เพราะอาเซียนเป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ เพื่อสร้าง “ความร่วมมือ” ในเรื่องต่างๆ ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน จะเห็นได้จากความตกลงเรื่องต่างๆ เช่น หมอกควันข้ามแดน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การค้าสินค้า ภัยพิบัติ และสิทธิมนุษยชน แต่ความตกลงเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มี “ข้อผูกพัน” ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ
หลังจากนั้น วิทยากรทั้ง 3 ท่าน ได้ร่วมกันเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดน โดย รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช ได้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยได้พยายามผลักดันแผนการปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเพื่อการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ตั้งแต่ปี 2562 และพยายามขับเคลื่อน โรดแมปอาเซียนปลอดหมอกควันข้ามแดน และแผนปฏิบัติการเชียงราย 2017 เพื่อป้องกันมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน อย่างไรก็ตาม วิกฤตมลพิษทางอากาศที่รุนแรงขึ้นในปีนี้สะท้อนให้เห็นว่าแผนและมาตรการต่างๆ ที่นำมาใช้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ โดยรัฐบาลไทยควรเร่งแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนใน 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 เป็นมาตรการที่สามารถดำเนินการได้เลยไม่ต้องรอข้อตกลงอาเซียน ซึ่งประกอบด้วย 1) ลดการเผาในที่โล่งแจ้งภายในประเทศให้เป็นแบบอย่างที่ดี 2) ให้องค์ความรู้พร้อมเงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขในการปรับตัวไปสู่การไม่เผากับประเทศเพื่อนบ้าน 3) จัดเวทีระหว่างประเทศเพื่อสร้างความเข้าใจถึงปัญหาและให้ชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และแบ่งปันความรู้ในการแก้ไขปัญหา 4) ย่อยข้อมูลเชิงเทคนิคที่เข้าใจยากให้เข้าใจได้ง่ายสำหรับชุมชนในพื้นที่ 5) ติดตั้งระบบตรวจสอบย้อนกลับการรับซื้อสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการเผาทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเก็บภาษีเพิ่มในระยะแรก และห้ามนำเข้าในระยะถัดไป 6) ผลักดันนโยบายสินเชื่อสีเขียว โดยการนำเงินกู้ออกจาก “อุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ” ไปสู่ “อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” 7) กำหนดเงื่อนไขการป้องกันไม่ให้เกิดฝุ่นพิษ PM2.5 ในระดับอันตรายในนโยบายและสัญญาสินเชื่อของธนาคาร 8) เร่งออกกฎหมายอากาศสะอาดที่มีประเด็นมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนเหมือนกับสิงคโปร์ ที่สามารถเอาผิดกับเจ้าของแหล่งกำเนิดหมอกควันพิษนอกประเทศไทย หรือบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง และ 9) ตั้งหน่วยงานหลักซึ่งมีหน้าที่ในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน พร้อมหน่วยงานสืบสวนสอบสวนมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน สำหรับส่วนที่ 2 เป็นมาตรการที่ต้องการความร่วมมือจากประเทศอาเซียน ซึ่งประกอบด้วย 1) ยกระดับความเข้มข้นในความร่วมมือโดยเร่งจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อควบคุมมลพิษข้ามพรมแดนของอาเซียน The ASEAN Coordinating Centre for Transboundary Haze Pollution Control (ACC) เพื่อหาแนวทางที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในภูมิภาค 2) ควรส่งเสริมการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในลักษณะที่เป็นแบบ sub-region (ไทย เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) เพื่อให้การแก้ปัญหาทำได้ง่ายขึ้น และ 3) ควรขอสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรจากบริษัทเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศ
ผศ.ดร.กอบศักดิ์ วันธงไชย ได้ให้ข้อเสนอแนะสำหรับการจัดการไฟป่าของประเทศไทย ดังนี้ 1. ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจการบริหารจัดการไฟป่าสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจังผ่านการจัดสรรงบประมาณรายปีที่เพียงพอและสอดคล้องกับสถานการณ์ไฟป่า 2. ควรเน้นสนับสนุนการจัดการไฟป่าโดยนำเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำสูงมาช่วย 3. ควรจัดการไฟป่าโดยมองบริบทเชิงภูมิทัศน์ ทั้งในระดับภาพรวมทั้งระบบ มองภาพรวมในการจัดการไฟในระดับภูมิภาค และ 4. ควรมีการทบทวนและปรับปรุงแนวทางการจัดการเชื้อเพลิงด้วยการเผาตามกำหนด ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นและเร่งด่วน โดยสร้างคู่มือการจัดการเชื้อเพลิงด้วยการเผาตามกำหนด และเห็นว่าเราควรจัดการในประเทศให้ดีก่อน ในส่วนที่เหลือคงจำเป็นต้องใช้เวทีอาเซียนในการผลักดันเรื่องปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 และได้ปิดท้ายว่า การใช้ไฟไม่ใช่สิ่งผิด แต่ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในการใช้งานอย่างถูกวิธี มีการกำกับ ควบคุม จัดการและดูแลอย่างไร
และ รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม ได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาผ่านมุมมองเชิงกฎหมาย ซึ่งพบว่า ในภาพกว้างกว่ากรอบอาเซียนออกไปในระดับระหว่างประเทศ จะพบว่าเรามีหลักการต่างๆ รองรับอยู่ ได้แก่ ปฏิญญากรุงริโอ ที่ระบุเรื่องความรับผิดชอบของรัฐผู้ก่อความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมของรัฐอื่น หรืออนุสัญญาเจนีวา ที่ระบุเรื่องสิทธิในการเรียกค่าเสียหายจากการก่อมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน นอกจากนั้น แนวโน้มใหม่ของกฎหมายระหว่างประเทศในปัจจุบันยังมีการสถาปนาให้สิทธิในสิ่งแวดล้อมเป็นสิทธิมนุษยชนด้วย ทำให้มีเครื่องมือใหม่ที่อาจนำมาใช้ในการสร้างความชอบธรรมและสิทธิทางกฎหมายในการเรียกร้องให้เกิดความรับผิดชอบจากปัญหามลพิษข้ามแดน ที่มีความเข้มข้นมากกว่าเพียงแค่การร่วมมือแบบที่เคยเป็นมา ทั้งนี้ แม้ว่ากรอบอาเซียนจะยังคงยืนยันหลักการความร่วมมืออยู่ต่อไปก็ตาม
ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / หัวหน้างานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์