มรภ.รำไพพรรณีพัฒนาเฟอร์นิเจอร์จากเปลือกทุเรียน
ตอบสนองสังคมยุคใหม่พร้อมลดขยะ-สร้างมูลค่าเพิ่ม
สกสว.สนับสนุน มรภ.รำไพพรรณี พัฒนาเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้สอยจากเปลือกทุเรียน ให้เข้ากับ
ความต้องการของสังคมยุคใหม่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยการแปรรูปเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร สร้างรายได้แก่ชุมชนชาวจันทบุรี และช่วยลดปริมาณขยะได้กว่า 3 พันตันต่อปี
ดร.จุฑาทิตย์ นามวงษ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี หัวหน้าโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเปลือกทุเรียนเพื่อการใช้สอยในยุคสังคมใหม่ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า คณะวิจัยได้ศึกษาและพัฒนากรรมวิธีแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเปลือกทุเรียน โดยสำรวจพฤติกรรมและความต้องการด้านการใช้สอยผลิตภัณฑ์ใน การดำรงชีวิตของคนยุคใหม่ นำมาสู่การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเปลือกทุเรียนที่ตอบสนองการใช้งานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บ่งบอกรสนิยมและสุนทรียะในการดำรงชีวิต โดยมุ่งเน้นกระบวนการผลิตในระดับชุมชนหรือผู้ประกอบการครัวเรือน และวางแผนถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ ผู้นำชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีหรือผู้สนใจทั่วไป เพื่อรองรับกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการด้านที่พักอาศัย รวมถึงร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกในท้องถิ่นและร้านค้าออนไลน์
คณะวิจัยได้พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์เครื่องใช้สอยหรือวัสดุตกแต่งบ้านรวม คือ ชั้นวางของ เครื่องใช้สอยประเภทกรอบรูป กระถางและตะกร้า ทำให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และ
ของตกแต่งบ้าน ช่วยลดขยะจากเปลือกทุเรียนในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีได้ไม่กว่า 3,000 ตันต่อปี รวมถึงช่วยลดปริมาณการขนส่งและกำจัดขยะของเทศบาลต่าง ๆ อีกทั้งก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้แก่คนในชุมชน และตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้โดดเด่นเป็นที่สนใจของผู้บริโภค
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านความสมบูรณ์ของทรัพยากร แต่ยังขาดแนวคิดที่ดีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ต้องการของตลาดสากล พร้อมกับการรักษาอัตลักษณ์ตัวตนและรากเหง้าของวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ โดยจังหวัดจันทบุรีสามารถปลูกทุเรียนได้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ อย่างไรก็ตาม แต่ละปีจะมีปริมาณขยะจากชิ้นส่วนทุเรียนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเปลือกทุเรียนมีลักษณะแข็งจึงสิ้นเปลือกพื้นที่การจัดเก็บและใช้เวลาย่อยสลายนานกว่าขยะอื่น ๆ
จากการศึกษาพบว่าเปลือกทุเรียนมีเยื่อเซลลูโลสซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการเตรียมคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลสที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยพันธุ์ที่มีปริมาณเซลลูโลสมากที่สุดร้อยละ 53 คือ หมอนทอง นอกจากนี้ยังนำไปทำกระดาษที่มีความสวยงามแต่ขาดความคงทน เพราะเส้นใยทุเรียนมีขนาดสั้น ทำให้การยึดติดระหว่างเยื่อไม่แข็งแรง จึงต้องผสมเยื่อชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย สำหรับเปลือกทุเรียนที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้สอย ได้แก่ หมอนทอง ชะนี และกระดุม เพราะมีปริมาณเปลือกเหลือใช้จำนวนมากและหาง่ายที่สุด โดยนำไปแปรรูปเป็นแผ่นกระดาษ แผ่นไม้อัด ด้วยกรรมวิธีการอัดขึ้นรูปด้วยความร้อนและทำเป็นเครื่องใช้สอยต่าง ๆ ด้วยการขึ้นรูปแบบอิสระ และสามารถนำไปอัดเคลือบเรซินเพื่อให้วัสดุเงางาม ไม่เป็นฝุ่น นอกจากนี้คณะวิจัยยังค้นพบการเก็บรักษาเปลือกทุเรียนไว้ใช้ในช่วงขาดแคลนด้วยการดองจากเปลือกสด โดยแช่น้ำให้ท่วมและปิดฝาให้สนิท สามารถเก็บไว้ได้นาน 3-6 เดือน เพราะเปลือกทุเรียนมีสารกำมะถันเจือปนอยู่จึงรักษาความขาวของเปลือกทุเรียนไว้ได้ และควรเปลี่ยนน้ำล้างเป็นระยะเพื่อลดการเน่าเสียของเปลือกทุเรียน
“ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้สอยที่มีรูปแบบเรียบง่าย แต่ให้ความรู้สึกหรูหรา ราคาแพง ประโยชน์ใช้สอยหลากหลาย ใช้งานสะดวกสบาย จากการทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์ผู้บริโภคเห็นว่าผลิตภัณฑ์มีความแปลกใหม่น่าสนใจ ราคาเหมาะสม แต่ควรปรับปรุงเรื่องน้ำหนัก ความแข็งแรงทนทานในการใช้งาน และสร้างความหลากหลายเรื่องสีสัน ลวดลาย ให้สดใสสวยงามตามสมัยนิยม” ดร.จุฑาทิพย์กล่าว