กรมส่งเสริมสหกรณ์แจงกรณีนายทะเบียนสหกรณ์กำหนดระเบียบการพ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการสหกรณ์ เมื่ออายุครบ 60 ปี
หวังให้คนรุ่นต่อไปเข้ามาสืบทอดบริหารงานสหกรณ์ให้มั่นคงยิ่งขึ้น
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ชี้แจงถึงกรณีที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีการออกระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการสหกรณ์ พ.ศ.2565 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนพิเศษ 305 ง หน้าที่ 4 ฉบับลงวันที่ 28 ธันวาคม 2565 และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับแจ้งจากสหกรณ์ เพื่อขอทราบเหตุผลและปัญหาที่มาของการออกระเบียบดังกล่าว และขอให้ทบทวนหรือยกเลิกระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์รวมทั้งประเด็นอื่น ๆ นั้น
สหกรณ์เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งและจดทะเบียนจากพระราชบัญญัติสหกรณ์ มีอำนาจกระทำการและวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลเป็นไปตามกติการ่วมกันของสมาชิกในการประชุมใหญ่ของสหกรณ์หรือเรียกว่าข้อบังคับ ซึ่งการกำหนดข้อบังคับของสหกรณ์จะต้องมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การกำหนดอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้จัดการ และนำไปจดทะเบียนข้อบังคับกับนายทะเบียนสหกรณ์ จึงจะมีผลบังคับใช้
ปัจจุบันการรับจดทะเบียนข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้องกับการพ้นจากตำแหน่งผู้จัดการ โดยเฉพาะกรณีผู้จัดการต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ มีความหลากหลาย ตัวอย่างเช่น
- ข้อบังคับกำหนดให้ผู้จัดการต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อครบตามสัญญาจ้าง แต่ระเบียบสหกรณ์กำหนดคุณสมบัติผู้จัดการไว้เพียงอายุ 60 ปี แต่ได้มีการจ้างผู้ที่มีอายุเกินกว่า 60 ปี เป็นผู้จัดการ จึงขัดต่อระเบียบสหกรณ์
- ข้อบังคับกำหนดให้ผู้จัดการต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือครบตามสัญญาจ้าง แต่ระเบียบสหกรณ์กำหนดให้เลิกจ้างหรือพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 65 ปี บริบูรณ์ ซึ่งขัดต่อข้อบังคับระเบียบก็ไม่มีผล
- ข้อบังคับกำหนดให้ผู้จัดการต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หากจะจ้างผู้จัดการที่มีอายุเกิน 60 ปี ให้จ้างเป็นคราว ๆ ละไม่เกินกี่ปี และพบว่ามีสหกรณ์บางแห่งต่อสัญญาจ้างผู้จัดการ สูงสุดได้ถึง 80 ปี หรือมีการขยายการต่ออายุไปเรื่อย ๆ จาก 60 ปี เป็น 65 ปี พอใกล้ครบ 65 ปี ก็ขอแก้ไขข้อบังคับต่ออายุไปเกษียณที่ 70 ปี หรือมีการจ้างผู้ที่เกษียณอายุจากงานราชการรัฐวิสาหกิจเป็นผู้จัดการ เป็นการปิดโอกาสพนักงานที่จะเติบโตในสายงาน
จึงทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนข้อบังคับที่มีความหลากหลาย ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงมีเรื่องหารือ ร้องเรียนเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลภายในสหกรณ์หลายประเด็น รวมถึงค่าตอบแทนของผู้จัดการบางแห่งที่กำหนดในอัตราที่สูงเกินฐานะของสหกรณ์ที่จะจ่ายได้ และสหกรณ์ที่เกิดการทุจริตหลายแห่งผู้กระทำการทุจริตคือผู้จัดการสหกรณ์ที่เกษียณอายุแล้ว และมีการขอขยายอายุการทำงานและต่อสัญญาจ้างกันมา ซึ่งข้อมูลผลการสำรวจ ณ ปัจจุบัน พบว่ามีสหกรณ์ที่จ้างผู้จัดการทำงานและต่อสัญญาจ้างกัน ซึ่งข้อมูลผลการสำรวจ ณ ปัจจุบัน พบว่ามีสหกรณ์ที่จ้างผู้จัดการที่อายุเกิน 60 ปี ไว้แล้ว มีจำนวน 115 สหกรณ์ จากสหกรณ์ที่มีการจ้างผู้จัดการ 3,717 สหกรณ์ ทั่วประเทศ
ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการสหกรณ์ พ.ศ.2565 ฉบับนี้ จึงเป็นการออกมาเพื่อเป็นกรอบการใช้ดุลยพินิจของรองนายทะเบียนสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากนายทะเบียนสหกรณ์ พิจารณารับจดทะเบียนข้อบังคับของสหกรณ์ โดยมีมาตรฐานเดียวกันทุกสหกรณ์ และระเบียบนายทะเบียนได้มีบทผ่อนปรน หรือบทเฉพาะกาลใน ข้อ 6 ผู้จัดการที่อายุเกิน 60 ปี ให้สามารถอยู่ได้ตามสัญญาจ้าง หรือข้อตกลงการจ้างงาน ระหว่างสหกรณ์กับลูกจ้าง ซึ่งแต่ละสหกรณ์จะกำหนดแตกต่างกันไป สำหรับสหกรณ์ใดหากมีปัญหาในการปฏิบัติตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ได้แจ้งให้สหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 ประสานงานกับทางสหกรณ์ เพื่อรวบรวมเอกสารข้อเท็จจริงหารือมายังกรมส่งเสริมสหกรณ์
ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าการออกระเบียบฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สหกรณ์มีการสร้างและทดแทนตำแหน่งผู้จัดการ ให้สืบทอดกันไปรุ่นต่อรุ่น เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีในสหกรณ์ อันจะสร้างความมั่นคงและมีผลดีต่อความเจริญก้าวหน้าของบุคลากรของสหกรณ์ในระดับผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้างานของสหกรณ์ในอนาคตต่อไป