บพข. โดยกองทุน ววน.ร่วมเป็นสักขีพยาน ลงนาม MOU รฟท. กับ มรภ.ลำปาง
ขยายความร่วมมือด้านการส่งเสริมการเดินรถไฟท่องเที่ยวเพื่อดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภาคเหนือ
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการใช้ทรัพยากรเครือข่ายที่มีอยู่ร่วมกันระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เพื่อผลักดันให้เกิดการเดินรถไฟท่องเที่ยวในจังหวัดภาคเหนือและในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ และรองรับการเดินรถไฟเพื่อการท่องเที่ยวในอนาคต โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดยมี ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานคณะอนุกรรมการกลุ่ม แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. โดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือทางการวิจัยและบริการวิชาการ ดังกล่าว
การดำเนินงานในครั้งนี้ เป็นการลงนามข้อตกลงความร่วมมือเป็นครั้งที่สอง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้อันเกี่ยวกับงานด้านการบริการวิชาการและการวิจัย พร้อมจัดทำโครงการและดำเนินงานบริการวิชาการและการวิจัยร่วมกันทั้งในรูปแบบองค์ความรู้และเชิงพาณิชย์ สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการดำเนินโครงการบริการวิชาการและการวิจัย เพื่อให้ได้ใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ของหน่วยงานทั้งสองอย่างรวดเร็ว คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ เกิดความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ที่เกิดจากโครงการบริการวิชาการและการวิจัยสู่หน่วยงานและชุมชนที่เกี่ยวข้องให้เกิดความภาคภูมิใจ หวงแหนและอนุรักษ์ และเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวทางรถไฟ ต่อไปในอนาคต
นับเป็นผลความสำเร็จในการดำเนินงานจัดการเดินทางท่องเที่ยวโดยรถไฟและการเดินรถไฟท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ระหว่างกัน โดยได้นำจุดเด่นของทั้งสองหน่วยงานมาสร้างสรรค์เป็นการท่องเที่ยวที่แตกต่าง และยังไม่เคยเกิดขึ้นในเส้นทางใดมาก่อน ให้บริการการเดินทางท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผสมผสานบริการแบบ Luxury การตกแต่งขบวนรถไฟและห้องโดยสาร ให้มีความสวยงามแสดงออกถึงอัตลักษณ์วัฒนธรรมภาคเหนือ ช่วยให้ผู้โดยสารได้สัมผัสกลิ่นอายและบรรยากาศตลอดการเดินทาง
“ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการจัดทริปท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ผ่านเส้นทางต่าง ๆ อาทิ การทดสอบเส้นทางรถไฟยุคสมัยล้านนา เชียงใหม่-ลำพูน และจัดโปรแกรมการเดินทางท่องเที่ยว 3 วัน 2 คืน จากสถานีรถไฟหัวลำโพงไปยังลำปาง – เชียงใหม่ สร้างรายได้กว่า 5 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้สู่ภาคการท่องเที่ยวและชุมชนเพิ่มมากขึ้น เช่น ในกลุ่มมัคคุเทศก์ อาหารและเครื่องดื่ม รถสี่ล้อแดงเชียงใหม่ รถราง รถม้า ผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นต้น ขณะที่ ความร่วมมือในกิจกรรมครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของการรถไฟฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และกลุ่มแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (บพข.) ที่มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยรถไฟ ซึ่งจะก่อให้เกิดการกระตุ้นการท่องเที่ยว กระจายรายได้ลงสู่ชุมชน และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างทั่วถึงและยั่งยืน นับเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศ” ผศ.สุภาวดี กล่าวทิ้งท้าย