“รองฯโจ๊ก”จัดหนัก ผู้การนราธิวาส-ผกก.ตากใบ-ร้อยเวร ฐานเอี่ยวเรียกรับเงินช่วยเหลือผู้ต้องหาคดียาเสพติด-อาวุธสงคราม
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. (สส.) เปิดเผยว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 10 ต.ค.65 นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้ยื่นหนังสือพร้อมเอกสารหลักฐานถึง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ขอให้ตรวจสอบกรณีข้าราชการตำรวจในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสมีส่วนเกี่ยวข้องในการเรียกรับสินบนแลกกับการให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาคดียาเสพติดและอาวุธปืนสงครามเพื่อให้ ไม่ถูกดำเนินคดี มีการออกบัตรแหล่งข่าว (บัตรเบ่ง) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ขบวนการยาเสพติด รวมทั้งคดีลอบฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ สภ.สุไหงโก-ลก ภ.จว. นราธิวาส นอกจากนี้ยังรวมถึงข้าราชการฝ่ายปกครองที่ให้ความช่วยเหลือในการออกใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนให้กับขบวนการค้ายาเสพติด รายละเอียดตามที่สื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียได้นำเสนอไปแล้วนั้น
กรณีดังกล่าว พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.ได้สั่งการให้ ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากกรณีดังกล่าว เนื่องจากเป็นกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีส่วนในการกระทำผิด และเป็นที่สนใจของประชาชนและสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก ตนจึงได้สั่งการให้ชุดสืบสวนตรวจสอบข้อมูลตามพยานหลักฐานที่นายอัจฉริยะได้มอบให้ ผลการสืบสวนเบื้องต้นพบว่า กรณีดังกล่าวมีมูลความจริงว่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องและช่วยเหลือผู้ต้องหาตามพยานหลักฐานที่ได้รับนำเรียนให้ ผบ.ตร.ทราบ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ต่อมาได้มีคำสั่งที่ 475/2565 ลงวันที่ 25 ต.ค.65 แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวน เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เปิดเผยต่อว่า ในการสืบสวนดังกล่าว โดยมี พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนจากพยานหลักฐานที่ได้รับจากนายอัจฉริยะ ได้ตั้งข้อสังเกตและประกอบพยานหลักฐานไว้จำนวน 4 ประเด็นด้วยกัน ประกอบด้วย
ประเด็นที่ 1 กรณีคดีลอบสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจ กล่าวคือ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.65 เวลา 02.00 น.ได้มีคนร้ายลอบยิง ส.ต.ต.ธนกฤต ฤกษ์ดี ขณะปฏิบัติหน้าที่สายตรวจจนเสียชีวิต ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้คือ นายฮาฟิต ปาเนาะ อายุ 19 ปี โดยผู้ต้องหาให้การซัดทอดว่า ได้รับการจ้างวานจาก นายชญานนท์ นิเถาะ อายุ 25 ปี ให้ดำเนินการลอบสังหารเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ พล.ต.ต.แวสาแม กลับให้การช่วยเหลือจนนายชญานนท์ ไม่ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ประเด็นที่ 2 กรณีนายอำเภอสุไหงโก-ลก ได้มีการออกใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนให้กับกลุ่มผู้ต้องหาซึ่งมีประวัติเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดโดยไม่มีการตรวจสอบประวัติ และออกให้กับบุคคลเดียวจำนวนหลายกระบอก โดยมีการออกใบอนุญาตให้กับผู้ต้องหาสูงสุดถึง 3 กระบอกภายในวันเดียว จากการสืบสวนพบว่า นายชญานนท์ฯ ผู้ต้องหา รู้จักกับนายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโก-ลก (ตำแหน่งขณะนั้น) โดยได้ประสานขอใบอนุญาตมีและใช้อาวุธปืน (ป.4) โดยได้มีการจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวกให้กระบอกละ 5,000 – 10,000 บาท จำนวน 7 กระบอก รวมเป็นเงิน 40,000 บาท
ประเด็นที่ 3 เป็นกรณีที่ พล.ต.ต.แวสาแม กับพวกให้การช่วยเหลือกลุ่มผู้ต้องหาให้พ้นจากการถูกดำเนินคดีจากการสืบสวนพบว่า เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.64 เจ้าหน้าที่ตำรว กก.สส.ภ.จว.สงขลา ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. และเจ้าหน้าที่ทหาร ร่วมกันจับกุม นายอาซิ บือเฮง อายุ 33 ปี พร้อมกัญชาอัดแท่งรวม 128 กก.ส่งดำเนินคดีพื้นที่ สภ.ตากใบ ภ.จว. นราธิวาส สอบถามผู้ต้องหาให้การซัดทอดว่า ได้รับการว่าจ้างจากนายชญานนท์ นิเถาะ อายุ 25 ปี ให้ขนส่งกัญชาดังกล่าวไปที่ประเทศมาเลเซีย เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน จนต่อมาเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.65 เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. ได้ขอหมายค้นเข้าค้นบ้านของนายชญานนท์ฯ ในพื้นที่ สภ.ตากใบ พบนายชญานนท์ฯ กับพวกรวม 6 คน พร้อมอาวุธปืน AK-47 อาวุธปืนลูกซอง และอาวุธปืนพกสั้นรวม 3 กระบอก จึงได้จับกุมดำเนินคดี แต่ต่อมาพนักงานสอบสวนกลับสั่งไม่ฟ้องนายชญานนท์ฯ กับพวก แต่สั่งฟ้อง 1 ในผู้ต้องหาเท่านั้น ซึ่งจากการสืบสวนกรณีดังกล่าว ตรวจพบความเชื่อมโยงระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มผู้ต้องหา ทั้งในด้านการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์และเส้นทางการเงิน จึงเชื่อได้ว่ามีการช่วยเหลือผู้ต้องหาให้พ้นจากการถูกดำเนินคดี
ประเด็นที่ 4 กรณี พล.ต.ต.แวสาแม สาและผบก.ภ.จว.นราธิวาส ได้มีการออกบัตรแหล่งข่าว ซึ่งปรากฎชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของ พล.ต.ต.แวสาแม โดยจะใช้ในการแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้ได้รับการอำนวยความสะดวกในกรณีถูกเรียกตรวจ ทำให้กลุ่มผู้ต้องหากล้าพกอาวุธปืนไปในที่สาธารณะโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย และก่อเหตุทำร้ายร่างกาย รปภ.โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก โดยในคดีดังกล่าวพบว่าพนักงานสอบสวนถูกแทรกแซงดุลพินิจในการดำเนินการทางคดี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เปิดเผยอีกว่า พล.ต.ต. แวสาแม มีการโทรสั่งการให้ปรับเปลี่ยนพฤติการณ์ทางคดี เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ต้องหา พฤติการณ์ดังกล่าวของ พล.ต.ต.แวสะแม ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ภ.จว.นราธิวาส ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยากลำบากมากขึ้น จากกรณีทั้ง 4 ประเด็นที่นายอัจฉริยะได้ตั้งข้อสังเกตและมอบพยานหลักฐานให้กับคณะพนักงานสืบสวนได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐานและแสวงหาข้อเท็จจริงประกอบ บัดนี้ คณะพนักงานสืบสวนตามคำสั่งดังกล่าว ได้มีมติให้มีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งคดีอาญาและคดีวินัย ดำเนินคดีอาญา กับผู้ต้องหาจำนวน 5 ราย
โดยจะดำเนินคดีในความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือโยชน์อื่นใดฯ, ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และ เป็นเจ้าพนักงานยุติธรรมกระทำการเพื่อจะช่วยเหลือบุคคลใดให้มิต้องรับโทษฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 157 และ 200 โดยได้มีการมอบผู้แทนเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปปป. เมื่อวันที่ 13 มี.ค.66 เรียบร้อยแล้ว ดำเนินคดีทางวินัย กับเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 13 นาย โดยเป็นคดีวินัยร้ายแรงจำนวน 3 นาย และคดีวินัย ไม่ร้ายแรงจำนวน 10 นาย โดยคณะพนักงานสืบสวนได้ส่งรายละเอียดพยานหลักฐานและรายชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กองวินัยพิจารณาข้อบกพร่องและดำเนินการทางวินัยต่อไปแล้ว
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติม ว่า กรณีดังกล่าวได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและประชาชนเป็นอันมาก โดยนายอัจฉริยะได้ยื่นหนังสือพร้อมพยานหลักฐานให้ท่าน ผบ.ตร.เพื่อพิจารณาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนขึ้นเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานในการสืบสวนอย่างจริงจัง เพื่อตอบคำถามสังคมให้ได้ว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ต้องหาคดียาเสพติดและอาวุธปืนจริงหรือไม่ ผลการสืบสวนเบื้องต้นเป็นไปตามมติของคณะพนักงานสืบสวนว่า เห็นควรดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างเด็ดขาดและไม่มีละเว้น แม้จะเป็นข้าราชการระดับสูงก็ตาม หากพบว่ามีการกระทำผิดก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เพื่อสร้างความมั่นใจและตอบคำถามสังคมให้ได้ ทั้งนี้ขอขอบคุณนายอัจฉริยะและสื่อมวลชนทุกท่านที่ช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำผิดดังกล่าว จากนี้ หากประชาชนท่านใดมีเบาะแสการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวหรือเคยถูกกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวเรียกรับผลประโยชน์ โดยผิดกฎหมายสามารถแจ้งให้ทราบได้ โดยจะเก็บเป็นความลับ