เทศกาลนี้เพื่อเธอ…สวยจริง ๆ สวยที่สุดในปีนี้ ชมพูพันธุ์ทิพย์บานสะพรั่งที่ มก.กำแพงแสน
วันที่ 12 มีนาคม 2566 Full Bloom สำหรับปีนี้ งานเทศกาลชมพูพันธุ์ทิพย์บานสะพรั่งที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม หรืองานเทศกาลชมดอกชมพูพันธุ์ทิพย์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 -16 มีนาคม 2566 โดยจุดที่สวยที่สุดคือ ตามแนวถนน สายวัฒนาเสถียรสวัสดิ์ (ถนนสาย 1) ซึ่งมีต้นชมพูพันธ์ุทิพย์ จำนวน 580 ต้นอยู่สองข้างทาง (หน้าโรงเรียนสาธิตเกษตร) ความยาว 3.5 กิโลเมตร นับเป็นถนนสายสีชมพู ที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย และได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมาชมความสวยงามของดอกชมพูพันธุ์ทิพย์ เป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์จะออกดอกและบานสะพรั่งในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์ถึงเมษายน และช่วงเวลาออกดอกจะมีระยะเวลาเพียง 2-3 สัปดาห์เท่านั้น
นับตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเปิดงานเทศกาลชมพูพันธุ์ทิพย์บานสะพรั่งที่กำแพงแสน ก็ได้รับความสนใจ จากนักท่องเที่ยวทั้งไกลใกล้ และ ผู้สื่อข่าว หลายสำนัก มาสัมผัสความสวยงาม ดื่มด่ำกับธรรมชาติ และมาถ่ายภาพความสวยงามของชมพูพันธ์ุทิพย์ ถนนสายสีชมพู อย่างต่อเนื่อง เป็นจำนวนมาก
โดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ขอร่วมมือทุกท่านที่มาชมความสวยงามของดอกชมพูพันธุ์ทิพย์ ช่วยกันดูแล ไม่โหน ไม่โน้มกิ่ง ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ เพื่ออนุรักษ์และรักษาต้นชมพูพันธ์ุทิพย์ เหล่านี้ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบไป ซึ่งต้นชมพูพันธ์ุทิพย์ดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียน “รุกข มรดกแผ่นดิน” โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ประจำปี2562
สำหรับประวัติที่มาของการปลูกต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ในพื้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เป็นแนวความคิดของ ศาตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วัฒนา เสถียรสวัสดิ์ เมื่อปีพ.ศ. 2520 ขณะดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีวิทยาเขตกำแพงแสน คนแรก มีนโยบายปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อเป็นแนวกันลมและเพื่อความร่มรื่นเป็นร่มเงาในอนาคต จึงได้กำหนดปลูกสองฟากถนนเริ่มต้นจากประตูชลประทานผ่านหน้าโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จนถึงประตูฝั่งจันทรุเบกษา ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตรโดยท่านได้รับมอบเมล็ดพันธุ์มาจากศ.ระพี สาคริก อธิการบดี ในขณะนั้นที่ท่านได้นำเมล็ดพันธุ์มาจากประเทศสิงคโปร์
ปัจจุบันวิทยาเขตกำแพงแสนปลูกต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ไว้ทั้งหมด1,258 ต้น โดยปลูกสองข้างทางถนนสายวัฒนาเสถียรสวัสดิ์ (ถนนสาย 1) จำนวน 580 ต้น พื้นที่สวน 100 ปี จำนวน 77 ต้น สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จำนวน 12 ต้น สระพระพิรุณ จำนวน 98 ต้น พื้นที่ด้านหน้าสวนปรง จำนวน 90 ต้น พื้นที่บริเวณบ่อ 6 จำนวน 165 ต้น และ บริเวณข้างถนนดินขอบบ่อ 6 ถึงบริเวณที่พักอาศัยข้าราชการ จำนวน 236 ต้น
ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ หัวหน้างานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์