กรมธนารักษ์ จัดกิจกรรมเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ถ่ายทอดองค์ความรู้ประวัติศาสตร์กำแพงเมือง – คูเมือง
สนับสนุนการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก และส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวศักยภาพสูงของจังหวัดน่าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 17.00 น. ที่บริเวณกำแพงเมือง – คูเมืองเก่าน่าน นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการกิจกรรมเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ถ่ายทอดองค์ความรู้ประวัติศาสตร์กำแพงเมือง – คูเมือง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมี นายนิวัฒน์ งามธุระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายชลทิตย์ ไชยจันทร์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาทรัพย์สินมีค่าของรัฐ กรมธนารักษ์ นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน นางศุภรดา กานดิศยากุล รองผู้จัดการ อพท.6 ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการ อพท.6 และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมต้อนรับ
โครงการกิจกรรมเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ถ่ายทอดองค์ความรู้ประวัติศาสตร์กำแพงเมือง – คูเมือง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการต่อยอดการบริหารจัดการพื้นที่กำแพงเมือง – คูเมือง ทั้งในมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน เป็นการบูรณาการจัดโครงการกิจกรรมระหว่างกรมธนารักษ์ ร่วมกับ เทศบาลเมืองน่าน สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดน่าน สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดอีซูซุน่าน เมืองสร้างสรรค์จังหวัดน่าน (Nan Creative) วิทยาลัยชุมชนน่าน กองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน (DNYC) สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น ธัชชา และหอภาพถ่ายล้านนา เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ถ่ายทอดองค์ความรู้ประวัติศาสตร์กำแพงเมือง – คูเมือง และกิจกรรมพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) เพื่อสนับสนุนการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ตลอดจนโครงการส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวศักยภาพสูงที่หลากหลายและโดดเด่นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ ณ บริเวณกำแพงเมือง – คูเมืองน่าน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงคุณค่าของกำแพงเมือง – คูเมือง ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ รวมทั้งหันมาร่วมกันอนุรักษ์และบริหารจัดการพื้นที่กำแพงเมือง – คูเมือง เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย กาดหมั้วคัวศิลป์ ร้านค้าจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม อาหารพื้นเมือง งานหัตถกรรม และงานศิลปะจากช่างท้องถิ่น โดยผู้ประกอบการร้านค้า งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านจังหวัดน่าน กิจกรรมเรียนรู้ลองดูคราฟท์ การประกวดวงดนตรีโฟล์คซองสร้างสรรค์ นิทรรศการให้ความรู้เรื่องเมืองสร้างสรรค์ นำเสนอ “หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเชื่อมโยงสายน้ำน่าน” (Crafts and Folk Art in Water) เป็นต้น
แดง น่าน *ภาพ/ข่าว
เอนก ธรรมใจ *รายงาน