รองผู้ว่าฯศรีสะเกษปลื้มสุดๆ ดูไบและเดนมาร์คสนใจผ้ามัดย้อมศรีสะเกษสั่งกลับประเทศไม่ต่อราคา
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมศรีพฤทเธศวร ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ นางสาวชนมณัฐ รอดบุญธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานประชุมขับเคลื่อนวาระผ้าทอมือศรีสะเกษ (ธานีผ้าศรี…แส่ว) โดยมีนางสาววริศรา โสภาค พัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวศรีสะเกษ นายสุพิชัย หล่าสกุล ประชาสัมพันธ์จังหวัด นางสาวจารุวรรณ คล่องตา ผอ.กลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน ผู้แทนประธานหอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ พัฒนาการอำเภอทุกอำเภอ และเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดศรีสะเกษที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมและรับทราบนโยบายขับเคลื่อนวาระผ้าทอมือศรีสะเกษ
นางสาววริศรา โสภาค พัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นการสรุปผลการขับเคลื่อนวาระจังหวัดศรีสะเกษ เกี่ยวกับเรื่อง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา เสด็จทอดพระเนตรการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม 2566 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เรื่องการเดินแบบผ้าไทย ภายใต้ธีมงาน “ผ้าไทยใส่ให้สนุกมหัศจรรย์แพรพรรณ สี่เผ่าไทยศรีสะเกษ” ในงานเทศกาลปีใหม่สี่เผ่าไทยศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2566 เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาส สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 36 พรรษา ในวันที่ 8 มกราคม 2566 เรื่องการรณรงค์สวมใส่ผ้าไทย “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” รวมถึง “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ทุกวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติของพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา การขับเคลื่อนวาระผ้าทอมือ “ธานีผ้าศรี…แส่ว” ของแต่ละหน่วยงาน ได้แก่ พาณิชย์จังหวัด วัฒนธรรมจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ วิทยาลัยการอาชีพศรีสะเกษ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 38 ศรีสะเกษ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด ศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคตะวันออกเฉียงเหนือจังหวัดศรีสะเกษ รวมไปถึงแผนการขับเคลื่อนที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ.2566
นางสาวชนมณัฐ รอดบุญธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษมุ่งขับเคลื่อนวาระผ้าทอมือ ซึ่งนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษได้เน้นให้เพิ่มมูลค่าของผ้า และปี2565 ที่ผ่านมา ได้ตั้งเป้ายอดจำหน่ายประมาณ1,500 ล้านบาท แต่เราสามารถทำตัวเลขได้ถึง 1,446,641,757 บาท และในปี 2566 คาดว่าจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ขอให้รวบรวมข้อมูลกลุ่มทอผ้าทุกกลุ่มไว้ จะได้เป็นช่องทางส่งเสริมกลุ่มให้ตรงตามเป้าหมาย รู้สึกดีใจมากที่ กลุ่มทอผ้าของจังหวัดศรีสะเกษก้าวสู่ระดับอินเตอร์ มีลูกค้าต่างประเทศสั่งซื้อ อาทิ นางกัญณภัทร จันทะมั่น ประธานกลุ่มสตรีทอผ้าไหมผ้าฝ้ายกี่กระตุก ตำบลโพธิ์วงศ์ อำเภอขุนหาญ บอกว่ามีดีไซเนอร์มาจากประเทศดูไบ มาเห็นวิธีการย้อมผ้าที่บ่อดิน ก็สนใจมาก สั่งทันทีว่าให้ทอผ้ามัดย้อมให้ 100 เมตร และให้กลุ่มตั้งราคาขายเองโดยไม่มีการต่อรองราคาเลย และสั่งว่าให้รีบส่งผ้าให้ด่วนด้วย ขอเพียงให้ช่วยคิดลายผ้าให้ และเน้นความนุ่มของผ้า เพื่อจะส่งไปตัดที่ดูไบ อีกรายก็เป็นสามี-ภรรยามาจากประเทศเดนมาร์ก มาพักที่โฮมสเตย์ 3 วัน 3 คืน หลังจากดูวิธีการมัดย้อมผ้าแล้วชอบใจมาก สั่งออเดอร์ผ้ามัดย้อมส่งกลับประเทศเดนมาร์คจำนวนมาก ส่วนมากชาวต่างชาติจะสั่งผ้ามัดย้อมสีลาวาและสีเขียวเปลือกทุเรียน ศรีสะเกษได้ตลาดจากต่างประเทศที่ลงพื้นที่มาดูวิธีการย้อมแล้วรู้สึกทึ่งและอยากได้ผ้ามาก ขอซื้อกลับประเทศเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมาก จึงขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันรักษา มาตรฐาน ขับเคลื่อนโดยเน้นคุณภาพโดยเฉพาะสีของผ้าอย่าให้สีตกจะเสียชื่อมาก และให้พัฒนากลุ่มทอผ้าให้สามารถขาย ทาง online ได้ อยากให้โรงเรียนส่งเสริมเด็กนักเรียนนุ่งผ้าไทย อยากให้ประชาสัมพันธ์หาวิธีช่วยสื่อออกไปให้โลกรับรู้เรื่องผ้าทอของศรีสะเกษว่าดีอย่างไร จะได้สร้างรายได้ให้กลุ่มทอผ้าเพิ่มเศรษฐกิจฐานรากได้มากขึ้นต่อไป
ข่าว/ภาพ … บุญทัน ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ