เวทีสุดท้าย การประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อสรุปผลการศึกษาโครงการ (การสัมมนา ครั้งที่ 3) โครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองศรีสงคราม
วันที่ 6 กุมภาพันธ์2566 กรมทางหลวง โดยสำนักสำรวจและออกแบบ ร่วมกับแขวงทางหลวงนครพนม จัดเวทีจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อสรุปผลการศึกษาโครงการ (การสัมมนา ครั้งที่ 3) โครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ณ หอประชุมมัจฉาวารี โรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษดิ์ อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม โดยมีศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรไทยคนที่ 2 เป็นประธานเปิดการประชุม และนายเดชา พรวนพิทักษ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครพนม เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่โครงการเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยแนวเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้น กม.0+000 บริเวณสามแยกปฏิรูป (ตำแหน่งหมายเลข 1) หลังจากนั้นมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวอำเภอศรีสงคราม ผ่านอ่างเก็บน้ำห้วยโคน และไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 2132 ที่ กม.40+544 (ตำแหน่งหมายเลข 2) ถนนของโครงการจากตำแหน่งหมายเลข 1 ไปยัง ตำแหน่งหมายเลข 2 จะเป็นการก่อสร้างถนนใหม่ขนาด 4 ช่องจราจร แนวเขตทางโดยทั่วไปมีความกว้างเท่ากับ 60.00 เมตร และบริเวณจุดกลับรถมี ความกว้างเท่ากับ 80.00 เมตรนอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างสะพาน 3 จุด ได้แก่ บริเวณข้ามอ่างเก็บน้ำห้วยโคน บริเวณข้ามถนนท้องถิ่น นพ.4036 และบริเวณข้ามห้วยโคน ถนนของโครงการจากตำแหน่งหมายเลข 2 ไปยังตำแหน่งหมายเลข 3 (กม.41+600 บนทางหลวงหมายเลข 2132) และจากตำแหน่งหมายเลข 2 ไปยังตำแหน่งหมายเลข 4 (กม.39+600 บนทางหลวงหมายเลข 2132) จะเป็นการก่อสร้างปรับปรุงขยายถนนเดิม จากความกว้าง 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร แนวเขตทางมีความกว้างเท่ากับ 30.00 เมตร และมีการก่อสร้างสะพานใหม่แทนสะพานเดิม บริเวณข้ามลำห้วยโคนจำนวน 1 จุด รวมความยาวถนนที่ขยายถนนเดิม จากความกว้าง 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจรเท่ากับ 2 กิโลเมตร
จากการตรวจสอบข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องกำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พบว่าแนวเส้นทางโครงการไม่อยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์และคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งไม่พบโบราณสถานและแหล่งโบราณคดี ดังนั้น โครงการจึงไม่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( Environmental Impact Assessment : EIA)
สำหรับกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน ทางโครงการฯ ได้จัดให้มีการประชุมปฐมนิเทศโครงการ (การสัมมนา ครั้งที่ 1) เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของโครงการไปเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 การประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อรูปแบบการพัฒนาโครงการ (การประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1) เมื่อวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 การประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมของโครงการ (การสัมมนา ครั้งที่ 2) เพื่อลงมติเลือกแนวเส้นทางไปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 และการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม (การประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2) เมื่อวันอังคารที่ 9 สิงหาคม 2565 และครั้งนี้ การประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อสรุปผลการศึกษาโครงการ (การสัมมนา ครั้งที่ 3) ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายก่อนปิดโครงการ มีผู้เข้าร่วมการประชุม ประมาณ 100 คน
สำหรับโครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองศรีสงคราม มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการได้แก่ 1) เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตตัวเมืองอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม 2) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและสนับสนุนยุทธศาสตร์ของชาติ และ 3) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศตามแนวชายแดน มีพื้นที่การศึกษาโครงการครอบคลุมพื้นที่ 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลศรีสงคราม และตำบลบ้านเอื้อง โดยมีบริษัท ซิตีแพลน โปรเฟสชันนอล จำกัด ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นที่ปรึกษาโครงการ
เทพข่าวร้อนรายงาน