กรมชลประทานสนองพระราชดำริ ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เพื่อราษฎรชาวไทย
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์ที่เป็น “ปราชญ์แห่งน้ำ” ทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำในทุกๆด้าน จะเห็นได้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกี่ยวกับน้ำมากกว่า 2,700 โครงการ ที่สามารถแก้ไขทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง คุณภาพน้ำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลเป็นรูปธรรมสร้างประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับประเทศไทยและพสกนิกรชาวไทย จนในปัจจุบันกลายเป็น “ศาสตร์พระราชา” ที่ถ่ายทอดและสืบสานต่อไป
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ทำการศึกษา วางแผน และก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ ตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริในการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำลำธารและพื้นที่ป่า ด้วยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น หรือ ฝายต้นน้ำ (CHECK DAM) รวมทั้งพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เพื่อให้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำ ในการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ อุทกภัย คุณภาพน้ำ และรักษาระบบนิเวศน์ของลำน้ำ ตลอดจนสร้างอาชีพเสริมให้กับประชาชนในพื้นที่ อาทิ อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา หรือโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ที่ก่อสร้างขึ้นบริเวณพื้นที่ต้นน้ำชายขอบป่า ที่สามารถเก็บกักน้ำและช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม ให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุุรีได้อย่างมีประสิทธิภาพ , อ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร จังหวัดชลบุรี เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ช่วยให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำมีแหล่งน้ำสำหรับการเพาะปลูกและอุปโภค-บริโภคอย่างพอเพียง รวมถึงช่วยป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ยังทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำหลากหลายรูปแบบตามความเหมาะสม และปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ , ฝาย , สระเก็บน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ ได้พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาด้วยการใช้ แก้มลิง ดั่งพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า “ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือ เต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง” ซึ่งเปรียบเทียบได้กับเมื่อเกิดน้ำท่วมก็ชักน้ำให้รวมกันแล้วนำมาเก็บไว้เป็นบ่อพักน้ำอันเปรียบได้กับแก้มลิง แล้วจึงระบายน้ำออกภายหลัง กรมชลประทานจึงได้นำพระราชดำริดังกล่าวมาดำเนินโครงการแก้มลิงหลายโครงการ ซึ่งโครงการที่ก่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนคือ โครงการแก้มลิงพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ จังหวัดชุมพร ซึ่งทำให้ชาวชุมพรรอดพ้นจากอุทกภัยน้ำท่วมเมืองหลายต่อหลายครั้ง
อีกหนึ่งปัญหาน้ำท่วมที่เป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการระบายน้ำไม่ทัน เนื่องจากมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ ประกอบกับเป็นที่ลุ่มความลาดชันต่ำ เมื่อฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง หรือมีน้ำป่าไหลหลาก ก็จะเกิดภาวะน้ำท่วมทันที พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแนวพระราชดำริ ในการดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงจะเกิดน้ำท่วมสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สิน อาทิ โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมชลประทานได้ดำเนินการขุดลอกคลองธรรมชาติที่มีอยู่เดิมทั้งหมด พร้อมขุดคลองระบายน้ำสายใหม่คือ “คลองภูมินาถดำริ” ทำให้ในปัจจุบัน ปัญหาอุทกภัยของอำเภอหาดใหญ่ได้บรรเทาเบาบางลงไปเป็นอย่างมาก แม้แต่ในปีที่มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง แต่ชาวอำเภอหาดใหญ่ ก็รอดพ้นจากภัยน้ำท่วมมาได้ทุกครั้ง
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทุกวันนี้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกี่ยวกับน้ำมากกว่า 2,700 โครงการ ยังคงก่อเกิดประโยชน์ให้กับประเทศชาติและราษฎรไม่มีที่สิ้นสุด
กรมชลประทานจะน้อมนำพระราชดำริที่เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำของพระองค์ท่าน มาสานต่อดำเนินการให้สำเร็จตามพระราชประสงค์ พร้อมทั้งนำศาสตร์พระราชาในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวน้ำมาศึกษาพัฒนาต่อยอดดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆให้สอดคลองกับยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สืบไป