การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ลงนามสัญญาร่วมกับ เอเออี เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) และ โคลท์ เทคนิคัล
พัฒนาโครงการนำร่องพัฒนาระบบไฟฟ้า เพื่อกักเก็บพลังงานแก้ปัญหาพื้นที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
จากสถานการณ์ปัญหาการจ่ายกระแสไฟฟ้า ที่มีการขัดข้องในปี 2561 – 2564 ในพื้นที่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีเหตุการณ์ไฟฟ้าขัดข้องด้วยตัวเลข 49.06 ชั่วโมง ต่อปี, 96.3 ครั้ง ต่อปี โดยเหตุการณ์กว่า 90% ไฟฟ้าจะดับเฉลี่ยไม่เกิน 60 นาที ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของชุมชน เนื่องจากเป็นพื้นที่สูง ล่าสุดทาง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) จึงร่วมกับ บริษัท เอเออี เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด (AAE) ผู้ก่อสร้างงานโครงสร้าง งานระบบไฟฟ้า เครื่องกล รวมทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งในงาน ออกแบบ ติดตั้งระบบ HVAC ในทุกๆ กลุ่มอุตสาหกรรม และ บริษัท โคลท์ เทคนิคัล จำกัด จัดพิธี “ลงนามสัญญาแผ่นงานนำร่องพัฒนาระบบไฟฟ้าด้วยระบบกักเก็บพลังงานเชื่อมต่อในระบบจำหน่าย” เพื่อแก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการจ่ายไฟในสภาวะฉุกเฉิน และเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนารูปแบบการแก้ปัญหาระบบไฟฟ้าสำหรับพื้นที่ห่างไกล โดยในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ กว่า 22,124 ครัวเรือน
นายภาณุมาศ ลิ้มสุวรรณ รองผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า กล่าวว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ภายใต้การกำกับดูแลของ กระทรวงมหาดไทย มีภารกิจหลัก ในการจัดหา ให้บริการพลังงานไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้เกิดความพึงพอใจทั้งด้านคุณภาพและบริการ โดยมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นั้น ได้มุ่งมั่นให้บริการพลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน อีกทั้งนำเทคโนโลยีด้านระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ในโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหาระบบไฟฟ้า ดังนั้น สายงานวางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า จึงได้พิจารณา นำระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) มานำร่องแก้ปัญหาระบบไฟฟ้าในพื้นที่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องด้วยพื้นที่ดังกล่าว ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีมีลักษณะภูมิประเทศล้อมรอบด้วยเนินเขาและภูเขาสูงชันของอุทยานแห่งชาติศรีลานนา โดยมีพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1-3 ล้อมรอบ ดังนั้น การพัฒนาระบบไฟฟ้าในพื้นที่ด้วยวิธีการปักเสา พาดสายจึงทำได้ยาก และก่อนดำเนินการจำเป็นต้องจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้เรียบร้อย ซึ่งจะต้องใช้เวลานาน และ พื้นที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ มักจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับกระแสไฟฟ้ามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นกระแสไฟฟ้าขัดข้อง ไฟตก ไฟดับ อีกทั้งยังมีแนวโน้มของปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝนจะมีปัญหาเกิดขึ้นบ่อยครั้ง (ความถี่ของเหตุการณ์ไฟฟ้าดับโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 96 ครั้ง/ปี, ระยะเวลาไฟฟ้าดับรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2,943 นาที/ปี)
นายภาณุมาศ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากปัญหาดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ประชาชนในพื้นที่ ได้แจ้งปัญหาดังกล่าวให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้รับทราบ และขอให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาการให้บริการไฟฟ้าในพื้นที่ เมื่อ กฟภ. ได้รับทราบเรื่องดังกล่าว จึงรีบดำเนินการศึกษา และหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม สามารถดำเนินการได้รวดเร็ว โดยฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 1 ภาคเหนือ ได้ร่วมกันศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยคำนึงถึงความรวดเร็วในการดำเนินการและประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ พบว่าการแก้ปัญหาในพื้นที่ด้วยการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) ขนาดใช้งานจริง 3.00 MW/3.00MWh (ติดตั้งกว่า 4MWh) เป็นวิธีที่สามารถแก้ปัญหาได้รวดเร็วที่สุด เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ได้แก่
- เพิ่มความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกล ให้มีพลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการ
- ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ที่สามารถรองรับพลังงานทดแทนที่อาจจะเพิ่มขึ้นในพื้นที่ และเพื่อใช้เป็นแผนงานต้นแบบเพื่อขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ที่มีความจำเป็นต่อไป
- ชะลอการลงทุนก่อสร้างและชะลอการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่ผ่านอุทยานแห่งชาติและลุ่มน้ำชั้น 1
- แก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีความมั่นคง ปลอดภัย และเชื่อถือได้มาประยุกต์ใช้งาน
การลงนามในสัญญาของ PEA และ กิจการค้าร่วม บริษัท โคลท์ เทคนิคัล จำกัด และบริษัท เอเออี เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด โดยคุณสมภพ บุญใย ครั้งนี้ เป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ปัญหาไฟฟ้าดับในพื้นที่อำเภอพร้าว และเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการนำร่องการนำระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่มาใช้งานในการแก้ปัญหาระบบไฟฟ้าอย่างยั่งยืน