จ.ร้อยเอ็ด ขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด ปี 2565
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.30 น. นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด (คสป.) ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นายพิศ นันทพูนพิพัฒน์ พัฒนาการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด ภารรัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดร้อยเอ็ด อาคาร 3 ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด
พร้อมกันนี้ที่ประชุม ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ ให้คณะกรรมการฯ ดำเนินงานติดตามกลุ่มเป้าหมายกิจการอาหารปลอดภัย โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม และร้านอาหาร ภายใต้โครงการส่งเสริมการพัฒนากลไกและโครงสร้างดูดซับมูลค่าทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้กลับสู่ท้องถิ่น ประจำปี 2565 จำนวน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษบ้านวังน้ำวน กลุ่มสตรีขนมไทยบ้านโนนใหม่ กลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ตำบลชมสะอาด และกลุ่มทำปลาร้าบ้านเทพารักษ์ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐจังหวัดร้อยเอ็ด ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายด้านการเกษตร ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน และด้านการแปรรูป
นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ภาครัฐและภาคเอกชนได้มีแนวทางร่วมกัน ที่จะช่วยกันดูแลพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางและกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนที่มีความเต็มใจ มีพลังและความมุ่งมั่น รวมถึงประสบการณ์ที่จะมาช่วยกันแก้ไขปัญหา และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเติมเต็มจุดอ่อนที่ภาครัฐไม่สามารถดำเนินการได้ และลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ก่อให้เกิดการสานพลังประชารัฐ ด้วยโมเดล 6 Driver 6 Enable สำหรับแนวทางการดำเนินงานในอนาคต จังหวัดร้อยเอ็ดมีกลไกที่จะขับเคลื่อนร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่ ถือเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึง ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคประชาชน ซึ่งจะเติมเต็มซึ่งกันและกันในการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างต่อเนื่องยั่งยืน ต่อไป
ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดร้อยเอ็ด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ประกอบกิจการที่หวังกำไรเพียงเล็กน้อย และนำกำไรนั้นกลับคืนสู่สังคม มีเป้าหมายการดำเนินงาน คือ “สร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุข” มีการกำหนดกลุ่มการดำเนินงาน 3 กลุ่มงาน ได้แก่ 1) กลุ่มงานเกษตร 2) กลุ่มงานแปรรูป และ 3) กลุ่มงานการท่องเที่ยวโดยชุมชน มีกระบวนการการทำงาน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ตามกระบวนการที่สำคัญ คือ 1) ปัจจัยการผลิต 2) การสร้างองค์ความรู้ 3) การตลาด 4) การสื่อสารสร้างการรับรู้ และ 5) การบริหารจัดการ ซึ่งเปรียบเสมือนฟันเฟืองของกลไกการทำงานของเครื่องจักรที่จะต้องสอดประสานเกื้อหนุนกัน โดยทั้ง 5 ฟันเฟืองจะขับเคลื่อนไปด้วยกันในรูปแบบของวิสาหกิจเพื่อสังคม
ภาพ:ข่าว คณิต ไชยจันทร์