กรมวิชาการเกษตรพร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น
ผู้นำเมล็ดพันธุ์พืชผักเขตร้อนคุณภาพสูง (King of Tropical Seed)
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ประชุมหารือกับนายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย สมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเซียและแปซิฟิค พร้อมกับประธานคณะผู้บริหารบริษัท เจียไต๋ จำกัด นายมนัส เจียรวนนท์ เข้าร่วมประชุม เพื่อขับเคลื่อนและต่อยอดประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำเมล็ดพันธุ์พืชผักเขตร้อนคุณภาพสูง (King of Tropical Seed)
จากการประชุม APEC ระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เดินหน้าตามนโยบายนายกรัฐมนตรีขับเคลื่อนเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูงร่วมกับเทคโนโลยีการเกษตรและการผลิต ประเทศไทยให้ความสำคัญกับความสำเร็จของ SDGs, BCG Economy Models ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนสู่เป้าหมายความมั่นคงด้านอาหารปี 2030 โดยมีความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาโดยเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูง เพื่อยกระดับคุณภาพและผลผลิต ท่อนพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ให้เป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ (Seed-Hub) ของภูมิภาคเศรษฐกิจ APEC ที่สอดรับกับ นโยบายของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในด้าน ตลาดนำการวิจัย
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์รองรับการเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ของภูมิภาคเศรษฐกิจ APEC ที่จะนำไปสู่ ผู้นำเมล็ดพันธุ์พืชผักเขตร้อนคุณภาพสูง ต้องเกิดความร่วมมือระหว่างกรมวิชาการเกษตร ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนให้เมล็ดพันธุ์ไทยสู่สากล โดยพัฒนาระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช สนับสนุนให้เกษตรกรได้ใช้พันธุ์พืชใหม่ๆ ที่ดีมีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐานในราคาที่เหมาะสม ตั้งเป้าขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผักเขตร้อนคุณภาพสูง (King of Tropical Seed) มูลค่า 15,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ การพัฒนาระบบการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ การตรวจสอบรับรองคุณภาพเมล็ดพันธุ์และสุขอนามัยพืชในระดับสากลเพื่อการค้าเมล็ดพันธุ์ ภายในประเทศ การนำเข้า และการส่งออก ผ่านระบบ NEW DOA-NSW และ e-Phyto ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้มีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับและการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชและใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกภาคส่วนสามารถขับเคลื่อนให้เมล็ดพันธุ์ไทยสามารถก้าวสู่ระดับสากล
กรมวิชาการเกษตรมีห้องปฏิบัติการบริการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ จำนวน 3 แห่ง คือ ห้องปฏิบัติการของกลุ่มพัฒนาระบบตรวจสอบและรับรองคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืช กองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชเชียงใหม่ และพิษณุโลก เพื่อออกใบรับรองทางราชการ และ ISTA ใช้ประกอบการซื้อ-ขายเมล็ดพันธุ์การค้าและส่งเสริมการขยายตลาดเมล็ดพันธุ์ของไทยไปยังนานาประเทศได้มากยิ่งขึ้น
ในด้านการพัฒนาบุคลากรด้านเมล็ดพันธุ์ กรมวิชาการเกษตรร่วมมือกับสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทยและภาคเอกชนอื่นๆ พัฒนาบุคลากรด้านการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์และการตรวจสอบสุขอนามัยเมล็ดพันธุ์ที่เป็นส่วนสำคัญในการผลิตและการส่งออกเมล็ดพันธุ์รองรับการเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้การใช้ modern biotechnology โดยเฉพาะ gene editing technology ซึ่งไม่ถือว่าเป็นพืช GMOs และการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติตุ้มครองพันธุ์พืชเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านการปรับปรุงพันธุ์และการผลิตเมล็ดพันธุ์ผสมเปิดที่มีมูลค่าสูง จะเป็นหนทางที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นผู้นำแห่งการผลิตเมล็ดพันธุ์
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า ผลจากการประชุมครั้งนี้จะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ช่วยผลักดันด้านการค้าและการลงทุน ในยุคสังคมดิจิทัล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เกษตรกรและเพิ่มความมั่นคงด้านอาหาร เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำเมล็ดพันธุ์พืชผักเขตร้อนคุณภาพสูง ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร และเกิดความมั่นคงทางอาหารอย่างแท้จริง