สทนช. ลงพื้นที่นำเสนอร่างผังน้ำ ฉบับร่าง 1 พื้นที่ภาคเหนือ 4 ลุ่มน้ำสำคัญได้แก่ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน ระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วน หวังใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่
วันที่ 20 ตุลาคม 2565 สทนช. ร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา จัดการประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 2 พื้นที่ลุ่มน้ำวัง โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ณ โรงแรมลำปางกรีนการ์เดนท์ อ.เมือง จ.ลำปาง เพื่อนำเสนอร่างผังน้ำ ฉบับที่ 1 ให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงจัดทำร่างผังน้ำ และนำมารับฟังความคิดเห็นในการประชุมครั้งถัดไป โดยมี นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำปางเป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้แทนหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สทนช. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 หลังจากได้ร่างผังน้ำลุ่มน้ำวังร่างที่ 1 เรียบร้อยร้อย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบร่างว่ามีส่วนใดที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม โดยผังดังกล่าวจะแสดงทิศทางการไหล และขอบเขตของทางแม่น้ำวัง ที่ต้องสำรวจรักษาไม่ให้สิ่งก่อสร้างที่จะเกิดในอนาคตกีดขวางทางน้ำ รวมถึงสิ่งก่อสร้างปัจจุบันที่กีดขวางทางน้ำอยู่ ก็จะมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานไปทำการปรับปรุง จากนั้นจึงจะประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา และนำส่งร่างฉบับสมบูรณ์ให้หน่วยงานนำไปใช้ โดยเฉพาะกรมโยธาธิการและผังเมือง ต้องนำผังน้ำไปประกอบการออกแบบผังเมืองรวม ผังเมืองจังหวัด และผังเมืองเฉพาะ ซึ่งตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562 กำหนดไว้ชัดเจนว่าจะต้องดำเนินการ
ประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นลุ่มน้ำวังหรือลุ่มน้ำใดก็ตาม จะเห็นว่ามีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำค่อนข้างเยอะ ทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยรุนแรงมากขึ้นทุกปี สังเกตจากในปี 65 นี้ จากอุทกภัยที่เกิดขึ้นทางภาคกลาง ภาคอีสาน จะเห็นว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ ทำให้มวลน้ำปริมาณเท่ากันกับปีก่อน เกิดผลกระทบต่อความสูงของระดับน้ำ การยกตัวของน้ำในแม่น้ำสูงขึ้น ความรุนแรงของน้ำท่วมมากขึ้น ผังน้ำจะเป็นสิ่งที่จะมาควบคุมกำกับในส่วนนี้ แม้ว่าผังน้ำฉบับนี้จะไม่ได้เป็นกฎหมายบังคับ แต่จะส่งให้หน่วยงานอื่นบังคับใช้ได้ รวมถึงหน่วยงาน อปท.หากจะอนุมัติทำการก่อสร้างในพื้นที่ของตนเอง ต้องคำนึงถึงข้อเสนอตามผังน้ำที่กำหนด เช่นถ้าจะก่อสร้าง หรือถมดินในบริเวณนี้จะทำได้ความสูงเท่าไร ถ้ามีความจำเป็นต้องถมดินในเขตทางน้ำจะทำการแก้ไขอย่างไร เป็นต้น
นายบุญสม กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีทั้งหมด 22 ลุ่มน้ำ ซึ่งในปี 65 นี้ จะประกาศใช้ได้ใน 6 ลุ่มน้ำ เช่น ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำบางปะกง สำหรับลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ของทางภาคเหนือ จะทำการศึกษาแล้วเสร็จในปี 2566 และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในช่วงปลายปี 2566 ขั้นตอนก็คือเมื่อทำผังน้ำเสร็จ จะต้องนำเสนอคณะกรรมการลุ่มน้ำให้ความเห็นก่อน จากนั้นต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จึงจะประกาศใช้ได้ ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สทนช. กล่าว
สำหรับการประชุมครั้ง สทนช. และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการประชุมในวันนี้ ไปพิจารณาประกอบการศึกษาทางวิชาการและปรับปรุงผังน้ำให้มีความเหมาะสมและนำมารับฟังความคิดเห็นในการประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 3 ประมาณเดือนมกราคม 2566