สถานทูตฟินแลนด์ เชิญ “เอ้ สุชัชวีร์” ปาฐกถาเปิดสัมมนาทิศทางการศึกษาในอนาคต ชี้ การศึกษาไทยหลังโควิด-19 มี “3 เรื่องดี-3 เรื่องใหญ่”
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (เอ้) ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในสังฆราชูปถัมภ์ และอดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวปาฐกถาเปิดเวทีสัมมนาออนไลน์ “Future Trends in Education” ซึ่งจัดโดยสถานทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย และ คณะกรรมการด้านการศึกษา หอการค้าไทย-ฟินแลนด์ (TFCC) โดยสะท้อนทิศทางการศึกษาไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาว่ามี “3 เรื่องดี-3 เรื่องใหญ่” ปรากฏให้เห็น
ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่เคยได้เป็นพระเอกในสังคมไทย ที่ผ่านมามักจะถูกละเลยให้เป็นประเด็นรอง ทั้งที่ในความเป็นจริงการศึกษาถือเป็นรากฐานสำคัญของสังคม หากจะแก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืนก็ต้องแก้ที่การศึกษาด้วย และจากสถานการณ์โรคระบาดที่ผ่านมา พบ 3 เรื่องดีที่สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาการศึกษาไทยได้ คือ
- โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมดี – ประเทศไทยมีระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่แม้ไม่ได้ดีเลิศ แต่ก็ไม่ได้แย่ สังเกตได้จากการปรับตัวไปสู่การเรียนออนไลน์แบบฉับพลันทันทีที่แม้มีปัญหาติดขัดบ้าง แต่ในภาพรวมก็สามารถปรับตัวตามสถานการณ์ได้ทั้งผู้เรียนและผู้สอน ซึ่งสะท้อนว่า สังคมไทยมีความสามารถในการปรับตัวอยู่พอสมควร เพียงแต่ขาดความตื่นตัวในการเปลี่ยนแปลงมากกว่า
- ระบบโลจิสติกส์ดี – ปัจจุบันระบบการขนส่งสินค้าของไทยขยายตัวและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถกระจายสินค้าและทรัพยากรทางการศึกษาไปได้มากขึ้น ซึ่งจุดแข็งตรงนี้เป็นโจทย์ว่าจะทำอย่างไรที่จะนำมาใช้กับการศึกษา เชื่อว่า ด้วยระบบโลจิสติกส์ที่เข้มแข็งของไทยนี้ หากสามารถนำไปต่อยอด จะสร้างประโยชน์ให้กับการศึกษาไทยได้อย่างมหาศาล
- บุคลากรดี – ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า บุคลากรทางการศึกษาทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง และภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะช่วงวัยใดก็ตาม ต่างมีความสามารถและมีความพยายามอย่างสูงในการปรับตัวกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับยังมีความมุ่งมั่นตั้งใจในภารกิจหน้าที่ของตัวเองมากด้วย ในแง่นี้หากวางระบบการจัดการที่ดีและยืดหยุ่นเพียงพอจะรองรับความเปลี่ยนแปลงได้ การศึกษาไทยจะเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ สุชัชวีร์ยังสะท้อนในอีกด้านหนึ่งว่า แม้จุดดีมีปรากฏ แต่ก็มีเรื่องที่ต้องแก้ไขและต้องคิดใคร่ครวญกันอีกมาก อย่างน้อยก็ 3 เรื่อง คือ
- เด็กปฐมวัยกับทักษะทางสังคม – งานวิจัยทั่วโลกเห็นตรงกันว่า ช่วงอายุ 3-6 ขวบคือช่วงเวลาที่สำคัญมากที่สุดช่วงหนึ่งของมนุษย์ แต่ในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ต้องอยู่บ้าน ไม่ได้เจอเพื่อน ไม่ได้เจอสังคม ทำให้ 2 ปีที่ผ่านมาเด็กปฐมวัยไม่ได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะต่าง ๆ มากนักโดยเฉพาะทักษะทางสังคม โจทย์ที่ต้องคิดต้องแก้คือจะเติมเต็มทักษะเหล่านี้ให้กับเด็ก ๆ ได้อย่างไร
- ทักษะทางวิชาชีพกับการเรียนออนไลน์ – มีหลากหลายอาชีพที่ต้องใช้ทักษะทางวิชาชีพ เช่น หมอ ช่าง หรือนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องทำการทดลอง ซึ่งทักษะเหล่านี้ต้องอาศัยการฝึกฝนและปฏิบัติ แต่ในช่วงที่สถานการณ์บังคับให้ต้องเรียนออนไลน์ ทำให้นักศึกษาจำนวนมากมีข้อจำกัดในการลงมือปฏิบัติจริง จึงอาจส่งผลต่อความชำนาญและความแม่นยำในทักษะวิชาชีพ โจทย์สำคัญอีกเรื่องก็คือ จะเสริมและเติมเต็มทักษะเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง ซึ่งสุชัชวีร์ชี้ว่าปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถช่วยลดข้อจำกัดในการฝึกฝนทักษะทางวิชาชีพได้ หากนำมาใช้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อให้ไม่มีโรคระบาดก็ตาม
- การถอดบทเรียนจากวิกฤติอย่างจริงจัง – โควิด-19 คือมหาวิกฤติของโลกและเป็นสัญญาณเตือนว่าโลกสมัยใหม่จะเปลี่ยนแปลงในทุกมิติอย่างรวดเร็วและคาดคะเนยาก ทำให้หลายประเทศเริ่มถอดบทเรียนและวางแผนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนในอนาคตแล้ว คำถามสำคัญคือ สังคมไทยเราจะถอดบทเรียนจากวิกฤติโควิด-19 อย่างไร เพื่อแก้ไขจุดอ่อนและเสริมความเข้มแข็งให้มากขึ้น
ท้ายที่สุด สุชัชวีร์เน้นย้ำว่า ไม่ว่าจะอย่างไรการดำเนินงานด้านการศึกษาในอนาคตจะต้องเผชิญกับปัญหาที่จะสลับซับซ้อนมากขึ้น จึงต้องเน้นการกระจายอำนาจทางการศึกษา ในขณะเดียวกันต้องรับฟังและสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพราะการศึกษามีผลกระทบกับทุกคนในสังคม จึงเป็นเรื่องของ “เรา”