อาลัยป้าคำมูล … ช้างเชือกแรกในโลกที่ได้รับการผ่าตัดนิ่วในทางเดินปัสสาวะช้างจนหายเป็นปกติ

อาลัยป้าคำมูล … ช้างเชือกแรกในโลกที่ได้รับการผ่าตัดนิ่วในทางเดินปัสสาวะช้างจนหายเป็นปกติ

เมื่อค่ำวานนี้ ( 17 ก.ย. 65 ) รศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก นิกร ทองทิพย์ ว่า

“ มีพบ ก็มีจาก…กว่าสิบปีของช้างเชือกแรกในโลกที่ได้รับการผ่านิ่วอุดตันทางเดินปัสสาวะจนหาย…ขอไว้อาลัยป้าคำมูลผู้เป็นครูช้างของผู้คนมากมาย…อย่างน้อยป้าก็ยังอยู่รอจนได้เห็นหน้ากัน ได้ยินเสียง และช่วยยกป้าให้ยืนขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย…ขอให้สู่สุขคติครับ…ขอขอบคุณ หมอเปี้ยก จาก รพส.ปากช่อง หมอมิก หมอตอง ทีมสัตวแพทย์จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ จนท. ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยเขาใหญ่ที่ดูแลป้าคำมูลอย่างเต็มที่ จวบจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต…”

และต่อมาเมื่อช่วงบ่าย วันที่ 18 ก.ย. 65 นายอลงกต ชูแก้ว เจ้าของ ป้าคำมูล ได้โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Alongkot Chukaew ว่า

กราบลาครูคำมูล..ช้างผู้ประเสริฐ ผู้เป็นครูของนักเรียนและผู้คนจำนวนมากตลอดเวลา11 ปีที่ผ่านมา พวกเราจะจดจำความเมตตาที่ครูคำมูลมอบให้ตลอดไป เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าครูคำมูลได้เป็นครูช้างที่ให้ความรู้กับผู้คนจำนวนมากและส่งผลดีต่อการอนุรักษ์ช้างไทย..โรคชราเกิดขึ้นกับทั้งคนและสัตว์ไม่แตกต่างกัน…กราบขอบพระคุณคณะสัตว์แพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ให้การช่วยเหลือจนถึงที่สุด และขอให้ทุกท่านที่ได้รู้จักคำมูลเปลี่ยนจากอาการโศรกเศร้าเสียใจ เป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ช้างไทยด้วยสิ่งที่ท่านทำได้เป็นการทำบุญอุทิศให้กับคำมูลต่อไปอย่าได้หยุดการอนุรักษ์ลง..กราบลาครูคำมูล มาแสดงพลังการอนุรักษ์แทนประโยคแห่งความเสียใจนะครับ…กราบขออภัยที่ ของดประโยคเสียใจนะครับ เรามาสร้างพลังกัน

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอนำข่าวเหตุการณ์เมื่อปีพ.ศ. 2555 จุดเริ่มต้นของการรักษา ป้าคำมูล มาเพื่อแสดงพลังการอนุรักษ์และเพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดการสุขภาพช้างต่อไปในอนาคต ดังนี้

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2555 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลสัตว์ ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน และกองทุนเพื่อรักษาช้างและสัตว์ป่า ได้รับช้างพังคำมูล อายุ 45 ปี เจ้าของคือนายอลงกต ชูแก้ว เข้ามารักษาด้วยอาการพบก้อนบวมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 ซม. บริเวณฝีเย็บ ปัสสาวะกะปริบกะปรอย มีอาการซึม กินอาหารน้อยและไม่ล้มตัวลงนอน

จากการซักประวัติพบว่า พังคำมูลเริ่มมีก้อนบวมดังกล่าวตั้งแต่ที่ถูกนำไปเลี้ยงไว้รับนั่งท่องเที่ยวที่เกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่มีขนาดไม่ใหญ่นัก สัตวแพทย์ได้ส่องกล้องเอนโดสโคปผ่านทางช่องคลอด และอัลตร้าซาวด์ผ่านทวารหนักและผิวหนัง เจาะเก็บตัวอย่าง ผลการตรวจพบวัตถุแข็งจำนวนมากอยู่ภายในก้อนดังกล่าว และมีเศษหนองและเนื้อตายที่ถูกดูดออกมาได้จากการเจาะตรวจ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นภาวะนิ่วอุดตัน หรืออาจจะเป็นส่วนของกระดูกของลูกช้างที่มีภาวะคลอดยาก แต่อย่างไรก็ตาม พังคำมูลไม่มีประวัติการผสมพันธุ์มาก่อนเลย จากนั้นทีมสัตวแพทย์ได้ฉีดยาปฏิชีวนะ ยาลดการอักเสบร่วมกับการให้กินยาลดบวม และเจาะเลือดเพื่อประเมินสุขภาพก่อนการผ่าตัด

วันที่ 15 ก.ย. 2555 ทีมสัตวแพทย์ได้ทำการวางยาซึมและให้ยาเฉพาะที่ และทำการผ่าตัดให้กับพังคำมูลผลการผ่าตัดพบว่า พังคำมูลมีภาวะนิ่วอุดตันในทางเดินปัสสาวะ โดยมีจำนวนนิ่วมากถึง 162 ก้อน ขนาดตั้งแต่เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ซม. จนถึง 10 ซม. หรือเท่ากับผลแอปเปิล ทั้งนี้ไม่รวมก้อนละเอียดเล็กๆ ที่มีลักษณะคล้ายเม็ดทรายอีกจำนวนมาก โดยก้อนนิ่วทั้งหมดมีน้ำหนักรวมถึง 8 กก.

ทั้งนี้ ทีมสัตวแพทย์ใช้เวลาในการผ่าตัดทั้งหมด 3 ชั่วโมง โดยมีสัตวแพทย์และนิสิตชั้นปีที่ 4-6 กว่า 30 คนให้การพยาบาล ภายหลังการผ่าตัด พังคำมูลมีภาวะท้องอืดเป็นอย่างมาก แต่ทีมสัตวแพทย์ได้รักษาอย่างเต็มที่จนพังคำมูลกลับมาเป็นปกติ

ขณะนี้พังคำมูลสามารถปัสสาวะได้ดี โดยปัสสาวะจะพุ่งออกทางแผลผ่าตัดเลย เนื่องจากทางเดินปัสสาวะด้านล่างอุดตัน สามารถกินน้ำและอาหารได้ตามปกติ ขณะนี้อยู่ในระยะพักฟื้นซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณสองสัปดาห์ จึงจะอนุญาตให้กลับได้

“สำหรับการผ่าตัดครั้งนี้ถือว่าเป็นการผ่าตัดแก้ไขภาวะนิ่วอุดตันทางเดินปัสสาวะในช้างสำเร็จเป็นครั้งแรกในโลก แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาย้อนหลังถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนิ่วในช้างเชือกนี้จะต้องมีการศึกษาต่อไป เพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดการสุขภาพช้างต่อไปในอนาคต” ผศ.น.สพ.ดร.สิทธวีร์ ทองทิพย์ศิริเดช สัตวแพทย์ประจำหน่วยสัตว์ป่า รพส.มก.กพส. เปิดเผยผลสำเร็จของคณะสัตวแพทย์ไทยในการผ่าตัดนิ่วในทางเดินปัสสาวะช้าง “พังคำมูล” ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก

หมายเหตุ ผศ.น.สพ.ดร.สิทธวีร์ ทองทิพย์ศิริเดช หรือปัจจุบัน คือ รศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์

อ้างอิง

https://www.facebook.com/nikorn.thongthip.5

https://education.kapook.com/view48235.html

 

ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์