✅️มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ “ทีมวิจัยไทย-จีน” ค้นพบหอยมุกชนิดใหม่ของโลก จากทะเลภูเก็ต

✅️มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ “ทีมวิจัยไทย-จีน” ค้นพบหอยมุกชนิดใหม่ของโลก จากทะเลภูเก็ต

เตรียมผลักดันขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ สินค้า GI ของจังหวัดภูเก็ต‼️
📌ทีมวิจัยคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย นางสาวสุพรรณี สมรูป นิสิตปริญญาโท หลักสูตรสองปริญญา “KU-OUC Dual Degree Program” ภายใต้การดูแลของ Prof. Liu Shikai จาก Ocean University of China และ ผศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ เมืองใหม่ ภาควิชาชีววิทยาประมง ร่วมกับ ดร.อัครศิริ แสงสว่าง ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ดร.ณิชนันทน์ แมคมิลแลน ดร.สุพนิดา วินิจฉัย สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร และ คุณจิตติ อินทรเจริญ อินทรฟาร์ม ค้นพบหอยมุกชนิดใหม่ของโลก “หอยมุกภูเก็ต” Pinctada phuketensis sp. nov. จากเกาะดอกไม้ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนทุนวิจัยบางส่วนจากรัฐบาลจีน (CSC scholarship) คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอินทรฟาร์ม
🔷️ผศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ เมืองใหม่ หนึ่งในทีมผู้วิจัย เปิดเผยว่า การค้นพบหอยมุกชนิดใหม่นี้เริ่มต้นจากโครงการวิจัย “การเพิ่มมูลค่าและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้และของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมการเลี้ยงหอยมุกสู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์ในอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพและความงาม” นำโดย ดร.สุพนิดา วินิจฉัย ร่วมกับอินทรฟาร์ม ซึ่งได้ทุนสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติและสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) โดยทีมวิจัยคณะประมงมีส่วนร่วมในการศึกษาความหลากชนิดและพันธุกรรมของหอยมุกบริเวณจังหวัดภูเก็ต หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2564 และ 2565 ทีมวิจัยคณะประมงเก็บตัวอย่างหอยมุกเพิ่มเติมจากอินทรฟาร์ม และบริเวณเกาะดอกไม้ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งจากการเปรียบเทียบข้อมูลทางสัณฐานวิทยาและพันธุกรรม พบว่าตัวอย่างหอยมุกที่เก็บได้จากเกาะดอกไม้มีลักษณะที่แตกต่างจากหอยมุกชนิดอื่น ๆ จึงได้รายงานเป็นหอยมุกชนิดใหม่ของโลก

 

🔷️หอยมุกภูเก็ตชนิดใหม่นี้อาศัยอยู่ในทะเลที่ความลึกประมาณ 5-10 เมตร มีลักษณะเปลือกและรูปร่างภายนอกคล้ายคลึงกับหอยมุกแกลบ (Pinctada fucata) แต่มีขนาดที่เล็กกว่า ไม่มีฟันบานพับ (hinge teeth) และมีออริเคิลด้านหน้าขนาดเล็ก เปลือกด้านในของหอยมุกชนิดนี้จะมีลักษณะเรียบและเป็นสีขาวมันวาว นอกจากนี้การวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมจากยีนในนิวเคลียส (18S rDNA, ITS1 และ ITS2) และไมโทคอนเดรีย (COI) ยืนยันว่าหอยมุกภูเก็ตเป็นหอยมุกชนิดใหม่ และมีความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการใกล้ชิดกับ Pinctada albina และ Pinctada nigra
🔷️ปัจจุบันทางอินทรฟาร์มมีการผลิตมุกเลี้ยงโดยการฝั่งแกนมุกเข้าไปในอวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ของหอยมุกชนิดใหม่นี้ ซึ่งมุกที่ได้มีคุณภาพดีและค่อนข้างเป็นที่ต้องการของตลาด ประกอบกับตามลักษณะหอยตัวนี้ สามารถพบในพื้นที่น้ำไม่ลึกมาก กระจายพันธุ์ได้เร็วเมื่อเก็บจากน้ำลึกมาไว้ในฟาร์มจะเกิดลูกหอยกระจายไปทั่ว ผิวมีความวาวสูงมีประกายเป็นสีรุ้งมากกว่า fucata แต่ลักษณะฝาแบนกว่าจึงเหมาะในการทำมุกกลมขนาดเล็ก2-6มม. ดังนั้นการผลิตมุกจากหอยมุกชนิดใหม่นี้ควรได้รับการพัฒนาทั้งวิธีการผลิตและการปรับปรุงพันธุ์หอยมุกเพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ามุก และผลักดันให้ไปสู่การขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ สินค้า GI ของจังหวัดภูเก็ต ในอนาคตต่อไป
🔷️ผศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ เมืองใหม่ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องจากทะเลอันดามันเป็นการตอกย้ำถึงความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมทางทะเลของไทยที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นการอนุรักษ์คุณค่าและความงดงามของท้องทะเลไทยเพื่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่อย่างยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง

 

🔷️สำหรับงานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของนางสาวสุพรรณี สมรูป หลักสูตรสองปริญญา “KU-OUC Dual Degree Program” ระหว่าง คณะประมงและบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และ Ocean University of China หลักสูตรดังกล่าวเริ่มเปิดรับนิสิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งนิสิตในโครงการจะได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลจีน (CSC scholarship) และมีโอกาสไปศึกษาต่อที่ Ocean University of China เป็นเวลา 2 ปี ปัจจุบันมีนิสิตในหลักสูตรทั้งสิ้นกว่า 30 คน และจะเปิดรับนิสิตใหม่ในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566
🔷️อ้างอิง: Somrup S, Sangsawang A, McMillan N, Winitchai S, Inthoncharoen J, Liu S, Muangmai N (2022) Pinctada phuketensis sp. nov. (Bivalvia, Ostreida, Margaritidae), a new pearl oyster species from Phuket, western coast of Thailand. ZooKeys 1119: 181–195. https://doi.org/10.3897/zookeys.1119.87724
📢ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ มก. / 5 กันยายน 2565
🔷️ลักษณะเปลือกภายนอกและภายในของหอยมุกภูเก็ต Pinctada phuketensis sp. nov.
🔷️มุกธรรมชาติที่ได้จากการสร้างของหอยมุกภูเก็ต Pinctada phuketensisอินทรฟาร์ม จังหวัดภูเก็ต
🔷️คณบดี และคณาจารย์คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เยี่ยมชมและสร้างความร่วมมือด้านงานวิจัยกับคณาจารย์จาก Ocean University of China ภายใต้โครงการ “KU-OUC Dual Degree Program”
#นิสิตของหลักสูตร “KU-OUC Dual Degree Program”

You May Have Missed!

1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
คณะกรรมการบริหารโรงเรียนปลูกปัญญา แต่งตั้ง “บิ๊กทิน” ผจก.ฟุตซอลทีมชาติไทย  เป็นประธานที่ปรึกษาโรงเรียน
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
พิพิธภัณฑ์เกษตรฯ เตรียมจัดงานใหญ่ส่งท้ายปี งานมหกรรม ภูมิพลังแผ่นดิน
1 Minute
กิจกรรมเพื่อสังคม
ไม่สนคำ ว่าทำบุญเอาหน้า…เสี่ยเดย์ นักบุญเจ้าเดิมช่วยการศึกษาอีกกว่า 3 ล้าน
0 Minutes
โรงพยาบาล
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร จัดงานวันสถาปนาครบรอบ 53 ปี ชูแนวคิด ทุ่มเทอย่างชาญฉลาด เพื่อสร้างประสบการณ์สุขภาพที่เหนือชั้น เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพิ่มการยอมรับและมั่นใจกับผู้มารับบริการ