สทนช. ลงพื้นที่ติดตามมาตรการรับมืออุทกภัยภาคอีสานเร่งรัดผลศึกษาแผนหลัก
ชู“แนวผันน้ำชี-เซบาย-เซบก-ตุงลุง-แม่น้ำโขง”แก้ท่วม-แล้ง ลุ่มน้ำชีล่าง-มูลล่างอย่างยั่งยืน
สทนช. ลงพื้นที่อุบลฯ-ยโสธร ติดตามสถานการณ์น้ำตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน 65 พร้อมเร่งรัดผลศึกษาแผนหลัก “แนวผันน้ำชี-เซบาย-เซบก-ตุงลุง-แม่น้ำโขง” แก้ปัญหาท่วม-แล้ง ลุ่มน้ำชีล่าง-มูลล่างอย่างยั่งยืนคาดศึกษาแล้วเสร็จ ก.ย.นี้ ด้าน“กอนช.”ออกโรงเตือนให้เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูลในช่วงฝนตกหนักวันที่ 22–25 สิงหาคม 65 นี้ เร่งทุกหน่วยงานหามาตรการสกัดน้ำไหลหลากเข้าท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำเกษตรกรรม พื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ และพื้นที่ชุมชน
นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาในลุ่มน้ำชีล่างและมูลตอนล่าง จ.อุบลราชธานี และ จ.ยโสธร ว่าพื้นที่ลุ่มน้ำชีล่าง- เซบาย-เซบก และลุ่มน้ำมูลตอนล่างเป็นพื้นที่ประสบกับปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอยู่ในเกณฑ์สูง สทนช. จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาแผนหลักเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบในพื้นที่ 8.94 ล้านไร่ ครอบคลุม 395 ตำบล 50 อำเภอ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ยโสธร ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ ศรีสะเกษและอุบลราชธานี ซึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมาพื้นที่ตลอดสองฝั่งลำน้ำชี ลำน้ำมูล ลำเซบาย ลำเซบกและลำน้ำสาขา ประสบปัญหาอุทกภัยทุกปีเนื่องจากแม่น้ำมีลักษณะแคบ ทำให้เกิดน้ำไหลบ่าล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำชี โดยเฉพาะด้านท้ายน้ำเป็นประจำเกือบทุกปี ส่วนในลำน้ำมูลทางตอนปลายของแม่น้ำมักเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้งบริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูลในพื้นที่ อ.เมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลทั้งจากแม่น้ำชี แม่น้ำมูล ลำเซบาย รวมทั้งลำน้ำสาขาอื่นของแม่น้ำมูล
ดังนั้น จากผลการศึกษาสภาพปัญหาหลักของพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่างและลุ่มน้ำมูลตอนล่าง พบว่า โครงการที่ช่วยบรรเทาปัญหาด้านน้ำในพื้นที่ดังกล่าวได้ ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำตามแผนงานปกติของหน่วยงานและโครงการเสนอเพิ่มเติม ตามแผนที่วางไว้ในระยะ 5 ปี 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ทั้ง 6 ด้าน รวมกว่า 9,300 โครงการ สามารถเก็บกับน้ำเพิ่มได้ 1,400 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 5.55 ล้านไร่ โดยพบว่าโครงการที่มีประสิทธิภาพสูงในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในฤดูฝนและเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำต้นทุนในฤดูแล้ง คือ โครงการแนวผันน้ำชี-เซบาย-เซบก-ตุงลุง-แม่น้ำโขง เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความสำคัญในลำดับต้น ๆ และสอดคล้อง กับความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากที่สุด จะทำให้พื้นที่น้ำท่วมส่วนที่เกินจากผังน้ำ 3.7 แสนไร่ ลดลงอีก 1.9 แสนไร่ โดยผันน้ำส่วนเกินของแม่น้ำชี ที่ระบายผ่านเขื่อนยโสธร-พนมไพรออกก่อนที่จะเข้าไปท่วมตัวเมืองทางด้านล่าง ไปเสริมน้ำต้นทุนให้กับพื้นที่เกษตรกรรมฝั่งขวาใต้คลองผันน้ำที่มักประสบปัญหาภัยแล้งได้ในช่วงฤดูฝน 2.2 ล้านไร่ และ ช่วงฤดูแล้ง 0.22 ล้านไร่
สำหรับแนวผันน้ำชี-เซบาย-เซบก-ตุงลุง-แม่น้ำโขง มีจุดรับน้ำอยู่ด้านเหนือเขื่อนยโสธร ทำการผันน้ำส่วนเกินของแม่น้ำชี ไประบายลงสู่แม่น้ำมูลด้านท้ายเขื่อนปากมูล รวมความยาว 180 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่ 1 แม่น้ำชี–ลำเซบาย ช่วงที่ 2 ลำเซบาย–ลำเซบก–ห้วยขุหลุ และ ช่วงที่ 3 ห้วยขุหลุ–ห้วยตุงลุง–แม่น้ำมูล อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการเป็นการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหลัก คือ การผันน้ำจากลุ่มน้ำชีไปยังลุ่มน้ำมูลจึงต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ก่อนพัฒนาโครงการในขั้นตอนต่อไป
รองเลขาธิการ สทนช.กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ยังได้หารือร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ณ สำนักงานชลประทานที่ 7 อุบลราชธานี เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 ในพื้นที่ลุ่มน้ำชีล่าง-มูลล่าง ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติที่มีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำในฤดูฝนทุกพื้นที่ โดยมอบหมาย สทนช.ติดตามผลการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานภายใต้ กอนช. ในการเตรียมพร้อมรับมือ ซึ่งพบว่าสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำมูลตอนล่าง จ.อุบลราชธานี บริเวณสถานี M7 ในปัจจุบันยังต่ำกว่าระดับเตือนภัยประมาณ 2 เมตร ภาพรวมสถานการณ์ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำตลิ่งแม่น้ำมูล ซึ่งกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้ร่วมกันวางแผนการบริหารจัดการน้ำและการจัดจราจรน้ำในแม่น้ำชีและลุ่มน้ำมูล ในช่วงฤดูน้ำหลาก โดยการลดน้ำหลากจากตอนบน ชะลอการระบายน้ำ เร่งระบายน้ำท้ายน้ำล่วงหน้าเพื่อลดความเสี่ยง เกิดอุทกภัยในพื้นที่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อนยโสธร เขื่อนธาตุน้อยและลำน้ำมูลน้อยที่สุด
รวมทั้งการผันน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำสองฝั่งลำน้ำชี-ลำน้ำมูลเพื่อช่วยบรรเทาน้ำท่วม และประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำดังกล่าวได้ประโยชน์จากมีน้ำต้นทุนไว้ใช้ในการเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป จากนั้นยังได้ติดตามการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนยโสธร จังหวัดยโสธร ตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 ได้แก่ การตรวจสอบสภาพความมั่นคงและซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำ รวมทั้งระบบระบายน้ำ การเตรียมความพร้อมแผนป้องกัน แผนเผชิญเหตุ ความพร้อมด้านบุคลากรและเครื่องจักรพร้อมใช้งาน และตรวจสอบความมั่นคง แข็งแรงและปรับปรุงซ่อมแซมพนังกั้นน้ำชีให้มีสภาพดีพร้อมใช้งานอีกด้วย
“ล่าสุดกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. ได้ติดตามสถานการณ์ฝนตกบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 24 – 29 สิงหาคม 65 ที่ผ่านมาพบว่าในหลายพื้นที่มีปริมาณฝนตกหนักถึงหนักมากสะสมมากกว่า 150 มิลลิเมตร และคาดการณ์สถานการณ์น้ำในลำน้ำ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 0.50 – 1.00 เมตร จึงขอให้เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาไหลหลากเข้าท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำเกษตรกรรม พื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ และพื้นที่ชุมชน ในบริเวณ 2 ลุ่มน้ำในภาคอีสานดังนี้คือ ลุ่มน้ำชี เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำชี บริเวณอำเภอเมืองอุบลราชธานีและเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ลำน้ำยังบริเวณอำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ลำปะทาวบริเวณอำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิและลุ่มน้ำมูลเฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง แม่น้ำมูลบริเวณอำเภอเมืองอุบลราชธานี พิบูลมังสาหาร วารินชำราบ และสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี ลำเซบก บริเวณ อำเภอม่วงสามสิบ ดอนมดแดง และตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี ลำโดมใหญ่ บริเวณ อำเภอน้ำยืน นาจะหลวย บุณฑริก เดชอุดม นาเยีย และพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี” นายสราวุธ กล่าว