กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ขับเคลื่อนโครงการ “ภาคเหนือโมเดล เพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันอย่างยั่งยืน”

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ขับเคลื่อนโครงการ “ภาคเหนือโมเดล เพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันอย่างยั่งยืน”

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักถึงคุณค่าอเนก อนันต์ของน้ำ ทรงคํานึงว่าทุกสรรพสิ่งในสภาพแวดล้อมของมนุษย์นั้น จะเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้หากรู้จักนําไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ เฉกเช่นเดียวกับพระราชดําริป่าเปียก เพื่อป้องกันไฟไหม้ป่านั้น จึงเป็นมรรควิธี ที่ทรงคิดค้นขึ้นจากหลักการที่แสนง่ายแต่ได้ประโยชน์มหาศาล กล่าวคือ ยามที่เกิดไฟไหม้ป่าขึ้นคราใด ผู้คนส่วนใหญ่ก็มักจะคํานึงถึงการแก้ปัญหา ด้วยการระดมสรรพกําลังกันดับไฟป่าให้มอด ดับอย่างรวดเร็ว แต่แนวทางใน การป้องกันไฟป่าในระยะยาวนั้น ยังดูเลือนรางในการวางระบบอย่างจริงจัง พระราชดําริป่าเปียก จึงเป็นพระราชดําริหนึ่งที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงแนะนําให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดําริ ทําการศึกษาทดลองจนได้รับผลสําเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยวิธีการสร้าง “ป่าเปียก” นั้น

ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 จึงได้สนับสนุนให้หน่วยขึ้นตรง กองทัพภาคที่ 3 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด ทั้ง 17 จังหวัด ร่วมบูรณาการกับส่วนราชการ ภาคเอกชน และพี่น้องประชาชน เพื่อคิดค้นโมเดลการแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควันอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า “โครงการเชียงใหม่โมเดล” มีความเป็นไปได้สูง จากหลักการที่ว่า “ลดเชื้อเพลิง และสร้างรายได้ให้รากหญ้า” ตอบโจทย์ได้ถึงต้นตอของปัญหา มีการทดสอบการปฏิบัติจริงมาแล้ว 2 ปี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 จึงต่อยอดด้วยการจัดทำโครงการ “ภาคเหนือโมเดล” เพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันอย่างยั่งยืนขึ้น มีขั้นตอนการดำเนินงาน 3 ขั้นตอน โดยเชียงใหม่โมเดล เป็นขั้นตอนที่ 1, โครงการป่าเปียก ลดเชื้อเพลิง สร้างรายได้ ขยายผลสู่ 6 จังหวัด เป็นขั้นตอนที่ 2 ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และมีโครงการภาคเหนือโมเดล 17 จังหวัด เป็นเป้าหมายสูงสุด ขั้นตอนสุดท้าย

สำหรับกิจกรรมหลักของ โครงการป่าเปียก ลดเชื้อเพลิง สร้างรายได้ มี 3 กิจกรรม ดังนี้
1. กิจกรรมสร้างป่าเปียก โดยมี 2 รูปแบบ คือ
1.1 แบบเร่งด่วนเป็นการนำน้ำขึ้นไปใส่ป่าที่มีปัญหาไฟไหม้ซ้ำซาก ได้แก่ โครงการดอยพระบาท ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดลำปาง และโครงการป่าเปียก ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดลำพูน
1.2 แบบประณีต ประกอบไปด้วย การสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และการปลูกป่าด้วยกล้าไม้ที่มีเชื้อเห็ดเศรษฐกิจ เช่น เห็ดถอบ เห็ดตับเต่า เห็ดระโงก อันมีผลพลอยได้ในการต่อต้านโฆษณาชวนเชื่อของ กลุ่มนายทุนที่ส่งเสริมการเผาป่า โดยการหลอกลวงชาวบ้าน ว่าเผาป่าแล้วจะได้เห็ดอีกด้วย
2. กิจกรรมที่ 2 และ 3 ของโครงการ คือ การลดเชื้อเพลิง และสร้างรายได้ เริ่มจากการสร้างรายได้ ให้คนรากหญ้า ผู้เก็บเกี่ยวต้นข้าวโพดออกมาจากในป่า ซึ่งพบว่า สามารถสร้างรายได้ขั้นต่ำ จำนวน 750 บาทต่อคนต่อวัน และต่อด้วยการสร้างรายได้ให้ชุมชน ด้วยการสร้างศูนย์รับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรระดับตำบล โดยการนำเชื้อเพลิงจากในป่า, ในสวนและในนา มาสร้างผลผลิตที่เหมาะสมต่อการขนส่ง และการใช้งานของกลุ่มอุตสาหกรรมปลายทาง ได้แก่ กลุ่มเลี้ยงโคนม, โรงงานอบลำไย, โรงงานผลิตปูนซีเมนต์, โรงงานเซรามิก, โรงงานผงชูรส, โรงงานน้ำตาล อีกทั้งผู้บริโภครายใหญ่ที่สุด คือ โรงไฟฟ้าชีวมวล

ดังนั้น ในขั้นตอนที่ 2 ของโครงการป่าเปียก ลดเชื้อเพลิง สร้างรายได้ 6 จังหวัดนำร่อง นั้น วัสดุเชื้อเพลิงเหมาะสมกับการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 8 เมกะวัตต์ (Mw) จำนวน 10 โรง มีอัตราการใช้ชีวมวลจากวัสดุเชื้อเพลิงที่เป็นปัญหา โรงไฟฟ้าละ 100,000 ตันต่อปี รวม 1,000,000 ตันต่อปี

ปัจจุบัน “แผนแม่บท” โครงการป่าเปียก ลดเชื้อเพลิง สร้างรายได้ 6 จังหวัดนำร่อง ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ได้จัดทำแล้วเสร็จ ขั้นต่อไปจะได้เสนอแผนแม่บท ให้คณะรัฐมนตรีฯ พิจารณาสนับสนุนโครงการภาคเหนือโมเดล เพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันอย่างยั่งยืนต่อไป

คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3

ปรีชา นุตจรัส รายงานข่าวพิษณุโลก