กรมวิชาการเกษตรจัดประชุมหารือระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร พร้อมหาหลักเกณฑ์ที่ดีที่สุดนำเสนอคณะรัฐมนตรี
ตามที่ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่ากรมวิชาการเกษตรจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC ระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร (APEC High-Level Policy Dialogue on Agriculture Biotechnology: APEC HLPDAB) ณ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพ ในวันที่ 20 สิงหาคม 2565
วันนี้ 18 สิงหาคม 2565 กรมวิชาการเกษตรโดยสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ได้จัดการประชุมเพื่อหารือระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร (HLPDAB) ในหัวข้อ “ถอดบทเรียนและมุมมองด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรของไทยจากอดีตสู่อนาคต” การอภิปรายและระดมความคิดเห็นเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดประชุมหารือระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร และแนวทางจัดการด้านเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่โดยความร่วมมือจากกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เป้าหมายของ APEC-HLPDAB เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคสามารถมาแลกเปลี่ยนข้อมูล เสริมสร้างศักยภาพการพัฒนานโยบายสาธารณะเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรสนับสนุนการใช้ประโยชน์ทางการค้า และเป็นเครื่องมือในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร สร้างรายได้ กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปกป้องสิ่งแวดล้อม บรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยจะมุ่งเน้นประเด็นหลัก 5 เรื่องคือ
1.ความปลอดภัยด้านอาหารและความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเพียงพอ
2.การบูรณาการระบบอาหารที่ยั่งยืนโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบเป็นมิตรกับธรรมชาติมากที่สุด
3.การนำนโยบาย 3-S ‘ความปลอดภัย’ (Safety), ‘ความมั่นคง(Security) และ ‘ความยั่งยืน (Sustainability) ในการปรับใช้ด้านการเกษตร
4.การปรับตัวสู่ระบบอาหารและการเกษตรที่ยั่งยืน
5.การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นหลักการพื้นฐานสำหรับการพัฒนาประเทศไทย
การประชุมหารือในครั้งนี้เป็นการร่วมกันถอดบทเรียนและมุมมองด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรร่วมกัน พร้อมร่วมรับฟังนักวิชาการ อาจารย์และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อหาหลักเกณฑ์ประเด็นที่เป็นประโยชน์ ช่วยผลักดันการเกษตรทั้งด้านความมั่นคงทางอาหาร การผลิตเมล็ดพันธุ์ทีมีคุณภาพ เกษตรกรสามารถเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ได้ง่ายในราคาประหยัด รวมถึงมาตรการลดคาร์บอนเพื่อรับมือกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง พร้อมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว