บำรุงราษฎร์ เชื่อมั่นในศักยภาพแพทย์รังสีร่วมรักษาระบบประสาท และร่วมภาคภูมิใจกับ ศ.พญ. ศิรินธรา แพทย์ไทยคนแรก ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานสหพันธ์สมาคมรังสีวิทยาระบบประสาทโลก ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

บำรุงราษฎร์ เชื่อมั่นในศักยภาพแพทย์รังสีร่วมรักษาระบบประสาท และร่วมภาคภูมิใจกับ ศ.พญ. ศิรินธรา แพทย์ไทยคนแรก

ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานสหพันธ์สมาคมรังสีวิทยาระบบประสาทโลก ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

 

ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ นำทีมผู้บริหารและพนักงานบำรุงราษฎร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ ศ.พญ.ศิรินธรา สิงหรา ณ อยุธยา แพทย์ผู้ชำนาญการด้านหลอดเลือดสมองและไขสันหลัง ศูนย์รังสีร่วมรักษาระบบประสาท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ในฐานะแพทย์ไทยคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานกิตติมศักดิ์ สหพันธ์สมาคมรังสีวิทยาระบบประสาทโลก หรือ The World Federation of Neuroradiological Societies (WFNRS) ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงให้กับวงการแพทย์ไทยให้เป็นที่ประจักษ์ต่อนานาประเทศ ในงานประชุมวิชาการว่าด้วยรังสีร่วมรักษาระบบประสาท (Symposium NeuroRadiologicum – SNR) ครั้งที่ 22 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลกกว่า 2,000 คน

ศ. พญ. ศิรินธรา สิงหรา ณ อยุธยา เป็นผู้มีคุณูปการต่อประเทศไทยและต่างประเทศมากมาย ทั้งในด้านองค์ความรู้ด้านรังสีร่วมรักษาระบบประสาท การเป็นผู้อุทิศตนเพื่อถ่ายทอดการเรียนการสอนให้แก่แพทย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประสบการณ์ความชำนาญการในการรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มประสิทธิภาพ มีบทบาทในการส่งเสริมความก้าวหน้าของประชาคม รวมถึงการประสานเชื่อมโยงในวิชาชีพทั่วโลกเพื่อยกระดับวงการแพทย์ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมรังสีร่วมรักษาระบบประสาทไทย เป็นสมาชิกและตัวแทนไทยในสมาคมรังสีร่วมรักษาระบบประสาทและรังสีวิทยาศีรษะและคอแห่งเอเชีย-โอเชียเนีย (AOSNHNR) รวมถึงได้รับเลือกให้เป็นผู้อำนวยการร่วมหลักสูตรปริญญาโทด้านโรคหลอดเลือด ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล กับมหาวิทยาลัยปารี ซุด ฝรั่งเศส เป็นต้น

ด้านองค์ความรู้ ศ.พญ.ศิรินธรา สิงหรา ณ อยุธยา ได้กล่าวถึงบทบาทของแพทย์รังสีร่วมรักษาระบบประสาทในประเทศไทย เป็นศาสตร์ทางการแพทย์เฉพาะทางรังสีวิทยาเพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคด้านโรคหลอดเลือดสมองและไขสันหลัง โดยใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์จำเพาะที่มีขนาดเล็กใส่เข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย โดยใช้ภาพทางรังสีวินิจฉัยเพื่อนำทางอุปกรณ์ดังกล่าวไปถึงรอยโรคเพื่อทำการรักษา ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ใช้วิธีผ่าตัดใหญ่แล้วด้วยวิวัฒนาการของเทคโนโลยีในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองกับไขสันหลัง จากสถิติพบคนไทยเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ร้อยละ 80 ของชนิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมาจากการที่มีลิ่มเลือดมาอุดตันหลอดเลือดในสมองแล้วถึงแก่ชีวิต

ศ. พญ. ศิรินธรา สิงหรา ณ อยุธยา ให้ข้อมูลว่า เมื่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองถูกส่งตัวมายังโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ แพทย์ฉุกเฉินจะประเมินอาการ พร้อมแจ้งไปยังแพทย์เฉพาะทางระบบประสาท ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และประเมินแนวทางการรักษาที่เหมาะสมโดยแพทย์ชำนาญการเฉพาะทาง หนึ่งในทางเลือกของการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันในระยะเฉียบพลัน คือการรักษาแบบรังสีร่วมรักษาระบบประสาท หรือ Neuro Intervention ด้วยวิธี Mechanical Thrombectomy ทุกวันนี้มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่เกิดจากการอุดตันของหลอดเหลือด ปัจจุบัน ได้พยายามเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออก โดยใช้สายดูดพิเศษเพื่อดูดออก ซึ่งต้องนำสายขึ้นไปถึงบริเวณที่มีเส้นเลือดอุดตัน หรือใช้ stent ซึ่งเป็นตัวจับลิ่มเลือดแล้วดึงรากออกมา ถ้ามาทันในระยะเวลาที่รวดเร็ว ผลการรักษาก็จะดีมาก

การรักษานี้จะใช้รักษาร่วมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย Biplane Digital Subtraction Angiography ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพและการทำงานของทีมแพทย์และความปลอดภัยของผู้ป่วย สิ่งที่เราใช้ในปัจจุบันเป็นเครื่องเอกซเรย์ 2 ระนาบ ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในรุ่นนี้ก็จะเห็นความชัดเจนของรอยโรค ทั้งกรณีเกิดตีบตัน โป่งพอง หรือปาน ซึ่งจะเห็นได้ชัดมาก ซึ่งแพทย์ของบำรุงราษฎร์ทุกคนจะได้รับ certified board หรือได้วุฒิบัตรในการรักษาแบบรังสีร่วมระบบประสาท ซึ่งการันตีด้านความสามารถ ความพร้อมในการให้การรักษาตลอด 24 ชั่วโมง 365 วัน เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยให้สังเกตอาการของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว หรือแขนขาอ่อนแรง แนะนำว่าควรรีบมาโรงพยาบาลที่มีศักยภาพที่จะให้การรักษาครบวงจรเต็มรูปแบบ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสที่เซลล์ประสาทเสียหายน้อยที่สุด และมีโอกาสกลับคืนมาปกติหรือใกล้ปกติมากที่สุด ปัจจุบันการรักษาจึงไม่มีแผลผ่าตัดใหญ่เหมือนแต่ก่อน ซึ่งด้วยเทคโนโลยี Minimal Invasive Surgery (MIS) จึงเน้นการเปิดแผลเล็กประมาณเข็ม ขนาด 1-2 มิลลิเมตร ช่วยลดระยะเวลาพักรักษาในห้อง ICU รวมถึงแทบไม่มีการอักเสบของการผ่าตัด และสามารถลดอาการแทรกซ้อนในการรักษาได้อีกด้วย

นอกจากแพทย์รังสีร่วมรักษาระบบประสาทจะรักษาโรคหลอดเลือดสมองแล้ว ยังรักษาโรคหลอดเลือดไขสันหลังอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันการตรวจด้วยเครื่องแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI (Magnetic Resonance Imaging) ช่วยให้แพทย์เห็นภาพไขสันหลังและอวัยวะต่างๆ ภายในไขสันหลังได้อย่างชัดเจน กรณีที่มีความผิดปกติทางหลอดเลือดของไขสันหลัง อาการจะต่างจากทางสมอง ส่วนใหญ่สมองจะเป็นซีกใดซีกหนึ่ง ขณะที่ไขสันหลังจะเป็นอวัยวะครึ่งล่างลามมาถึงครึ่งบน หรืออัมพฤกษ์ หรืออัมพาตของขาสองข้าง หลายๆ ครั้งเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นกระดูกเสื่อม หรือหมอนรองกระดูก ฉะนั้น ความละเอียดของเครื่องมือจึงมีความสำคัญมาก ปัจจุบันบำรุงราษฎร์มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยและละเอียดที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ที่จะช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยสามารถแยกโรคหลอดเลือดของไขสันหลังซ่อนอยู่ ออกจากโรคกระดูกเสื่อมหรือหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ซึ่งการใช้วิธีทางรังสีร่วมรักษา มีข้อดีคือสามารถเข้าไปรักษาได้อย่างตรงจุด แม่นยำ และช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติหรือใกล้เคียงกับปกติได้มากขึ้น

You May Have Missed!

1 Minute
โรงพยาบาล
สำนักอนามัยจัดกิจกรรมรณรงค์วันส้วมโลก ประจำปี 2567 ณ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
1 Minute
โรงพยาบาล
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จัดพิธีทำบุญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงพยาบาล
0 Minutes
ข่าวประชาสัมพันธ์
ทรู แจกใหญ่ จัดหนัก กับ แคมเปญ “รวยคูณสอง แจกทอง แจกรถ” ร่วมกับ 8 พาร์ทเนอร์ชั้นนำ มอบโชคใหญ่ให้ลูกค้าทรู ดีแทค รวมมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท เพียงสมัครบริการเสริม ก็มีสิทธิ์ลุ้นรับของรางวัลทันที ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 พ.ค. 68
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
คณะกรรมการบริหารโรงเรียนปลูกปัญญา แต่งตั้ง “บิ๊กทิน” ผจก.ฟุตซอลทีมชาติไทย  เป็นประธานที่ปรึกษาโรงเรียน