มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เชิดชูเกียรติ สพ.ญ.ชนัญญา หรือ หมอโบว์ เป็น “เกษตรกล้า” แบบอย่างที่ดีต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพ และสัตวแพทย์รุ่นน้องๆ
วันที่ 8 สิงหาคม 2565 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดพิธีมอบเข็มพระพิรุณทองคำและโล่เชิดชูเกียรติ สัตวแพทย์หญิงชนัญญา กาญจนสาขา หรือ หมอโบว์ เป็น “ เกษตรกล้า” รุ่นที่ 2 ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 8 /2565 ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มก.
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มอบเข็มพระพิรุณทองคำและโล่เชิดชูเกียรติ “เกษตรกล้า” แก่ สัตวแพทย์หญิงชนัญญา กาญจนสาขา หรือ หมอโบว์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ ประจำส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นิสิตเก่าคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ KU รุ่นที่ 65 สัตวแพทย์รุ่นที่ 69 ผู้ทุ่มเทปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจช่วยเหลือสัตว์ป่าด้วยความกล้าหาญและเสียสละยิ่ง
สัตวแพทย์หญิงชนัญญา กาญจนสาขา เป็นสัตวแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญด้านการรักษา และ การอนุรักษ์ฟื้นฟูสุขภาพสัตว์ป่า เป็นผู้มีจิตสาธารณะ เอื้อเผื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนร่วมงาน และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ดังจะเห็นได้จากผลงานเชิงประจักษ์ทั้งในด้านวิชาการ การบริการวิชาการ และจิตอาสา ที่สะท้อนมุมมองตัวตนและการทำงานด้วยจิตสาธารณะของสัตว์แพทย์สัตว์ป่า หรือ หมอสัตว์ป่า ได้อย่างน่าชื่นชมและเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพ และสัตวแพทย์รุ่นน้องๆ ให้เกิดความมุ่งมั่นในการดำเนินรอยตามต่อไป
สัตวแพทย์หญิงชนัญญา กาญจนสาขา ตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์ป่าทุกชีวิต ทำหน้าที่ใช้ความรู้ทางวิชาชีพในการช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ประสบปัญหาทั้งจากภัยธรรมชาติ และอุบัติเหตุ ทั้งการตรวจสุขภาพ การรักษา และการติดตาม เพื่อให้สัตว์ป่าดำรงชีวิตได้อย่างปกติในสภาพธรรมชาติของป่าที่เป็นแหล่งกำเนิด แหล่งอาหาร และที่อยู่อาศัยของตน
ผลงานในอดีต ได้แก่ ปฏิบัติการปล่อยหมีควายกลับคืนสู่ป่า เป็นหมีควายที่ออกหากินในบริเวณชุมชน ทำร้ายประชาชนในพื้นที่ จึงได้ดักจับและเคลื่อนย้ายจากจุดจับมายังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน พร้อมทั้งตรวจสุขภาพ และรักษาโรคจนสมบูรณ์แข็งแรงก่อนดำเนินการปล่อยกลับคืนสู่ป่าดงพญาเย็น- เขาใหญ่ ณ อุทยานแห่งชาติปางสีดา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561
กรณีช่วยเหลือช้างป่าตกน้ำตกเหวนรก ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2562 ได้ช่วยเหลือช้างป่าสองแม่ลูกที่พยายามข้ามผ่านน้ำตกในสภาพอ่อนแรง โดยนำผลไม้และอาหารวางกองไว้ตามจุดเพื่อช่วยสนับสนุนแหล่งอาหารสำหรับช้างป่าทั้งสอง และติดตามร่องรอยเพื่อประเมินการเคลื่อนที่ของช้างป่าที่รอดชีวิต
กิจกรรม “คืนสัตว์ป่าพลัดหลง สู่อ้อมมกอดเขาใหญ่” เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 การปล่อยสัตว์ป่าที่มาจากการพลัดหลง ถูกทอดทิ้ง หรือได้รับบาดเจ็บ โดยนำมารักษาดูแลสุขภาพและอนุบาลไว้จนสมบูรณ์แข็งแรง ได้แก่ นางอาย 1 ตัว ชะมดเช็ด 5 ตัว
กรณีช่วยลูกช้างป่าพลัดตกบ่อพักท่อระบายน้ำ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 ช่วยเหลือแม่ลูกช้างป่าตกบ่อพักท่อระบายน้ำ บริเวณรอยัลฮิลล์ รีสอร์ท จังหวัดนครนายก วางแผนช่วยเหลือจัดทีมเจ้าหน้าที่ 3 ทีม 1. ทีมผลักดันฝูงช้าง เป็นเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทำหน้าที่ผลักดันฝูงช้างป่าที่มาพร้อมกับช้างสองแม่ลูก ผลักดันให้ช้างฝูงอยู่ไกลจากจุดเกิดเหตุมากกว่า 500 เมตร ป้องกันไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานและตัวช้างเกิดอันตราย 2. ทีมควบคุมแม่ช้าง ทีมสัตวแพทย์และศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า ทำหน้าที่ยิงยาสลบแม่ช้าง ดูพฤติกรรมและอาการ เพื่อควบคุมไม่ให้ทำอันตรายต่อทีมช่วยเหลือลูกช้าง เนื่องจากแม่ช้างแสดงอาการก้าวร้าวตลอดเวลาที่เฝ้าลูกช้างบริเวณปากบ่อพัก 3. ทีมช่วยเหลือลูกช้าง เป็นผู้นำชุมชน หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าฯ และชมรมฅนรักษ์สัตว์ป่า ทำหน้าที่ช่วยลูกช้างขึ้นมาจากบ่อพัก ประเมินสภาพพื้นที่การทำงาน และใช้เครื่องจักรเข้าช่วยเหลือ
ทั้งนี้ ในระหว่างภารกิจช่วยชีวิตสัตว์ป่า สัตวแพทย์หญิงชนัญญา กาญจนสาขา ได้คำนึงถึงหลัก “คนปลอดภัย สัตว์ปลอดภัย งานสำเร็จ” ซึ่งเป็นหลักการที่อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ สอนนิสิตเสมอมา และตระหนักถึงความสำคัญของการทำงานเป็นทีม ความเชื่อใจ และการให้เกียรติกัน ส่งผลให้ภารกิจช่วยเหลือสัตว์ป่าประสบความสำเร็จด้วยดี
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตระหนักในภารกิจและรู้สึกภาคภูมิใจในความสำเร็จที่เกิดขึ้น จากความมุ่งมั่นและตั้งใจในการประกอบวิชาชีพของสัตวแพทย์หญิงชนัญญา กาญจนสาขา จึงขอยกย่องเชิดชูเกียรติ มอบเข็มพระพิรุณทองคำและโล่เชิดชูเกียรติ “เกษตรกล้า” แก่ สัตวแพทย์หญิงชนัญญา กาญจนสาขา ผู้มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพและมีความกล้าหาญยิ่ง เพื่อเป็นกำลังใจในการทำความดีปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งตลอดไป
ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ /รายงาน