เดินหน้าสร้างการรับรู้ประมวลกฎหมายยาเสพติดภาคการบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยสำนักงานปปส. ภาค 6 จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างการรับรู้ด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคมตาม ประมวลกฎหมายยาเสพติด พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ณ โรงแรมเมย์ฟลาวเวอร์ แกรนด์พิษณุโลก อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ให้แก่หน่วยงานที่ร่วมบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาผู้เสพยาเสพติด อาทิเช่น ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตำรวจภูธรจังหวัด สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานศึกษาธิการ รวมทั้งสิ้นประมาณ 180 คน ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง
ตามนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นอกจากการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปราบยาเสพติดแล้ว ได้มีการปรับแนวคิดเพื่อให้ทันสมัยและเป็นสากล สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศรวมทั้งปรับปรุงบทบัญญัติของประมวลกฎหมายยาเสพติด ให้สอดคล้องกับผลการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก (United Nations General Assembly Special Session on the world drugs Problem-UNGASS 2016) โดยยึดหลัก “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” และใช้กระบวนการทางสาธารณสุขและสุขภาพในการแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติด มุ่งลดผลกระทบต่อสุขภาพ ชุมชน และสังคม โดยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้โอกาสผู้เสพยาเสพติด ให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างยั่งยืน
นายสราวุธ ภักดี ผู้อำนวยการสำนักงาน ปปส. ภาค 6 กล่าวถึงการจัดประชุมฯในครั้งนี้ว่า “การขับเคลื่อนงานด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคมภายใต้ประมวลกฎหมายาเสพติด ที่มีผลบังคับ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนในรายละเอียดบางประการมุ่งเน้นการสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา โดยมีศูนย์คัดกรองทำหน้าที่คัดกรองและประเมินความรุนแรงของการติดยาเสพติดและส่งตัวเข้ารับการบำบัด ณ สถานพยาบาลหรือสถานที่บำบัดฟื้นฟู ตามความเหมาะสมกับการติดยาเสพติดของแต่ละคน และมีศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมทำหน้าที่ในการติดตาม ดูแลและให้ความช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติไม่สร้างความเดือดร้อนแก่สังคมหรือชุมชน ซึ่งภารกิจดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือจาก หลายหน่วยงาน บูรณาการทำงานอย่างใกล้ชิดและประสานการดำเนินงานให้สอดคล้องกัน ควบคู่การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย อย่างเป็นรูปธรรม “คืนคนดีกลับสู่สังคม” เพราะผู้ติดยาเสพติดคือ ผู้ป่วยที่จะต้องได้รับการดูแลรักษา อย่างดีที่สุดซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐบาล”
ปรีชา นุตจรัส รายงานข่าว