สถาบัน KAPI มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดอาคารโรงงานการผลิตพืชขั้นสูงด้วยแสงเทียม
ผลิตวัตถุดิบต้นน้ำเพื่อสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพระดับพรีเมี่ยม
รองรับนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์
วันที่ 2 สิงหาคม 2565 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เป็นประธานเปิดอาคารโรงงานการผลิตพืชขั้นสูงด้วยแสงเทียม เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 31 ปีแห่งการสถาปนาสถาบัน KAPI หรือ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ธีระ สูตะบุตร อดีตอธิการบีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการสถาบัน KAPI ดร.พิลาณี ไวถนอมสัตย์ ผู้อำนวยการสถาบัน KAPI พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารของสถาบัน KAPI ร่วมในพิธี
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 31 ปี สถาบัน KAPI ได้แสดงให้สังคมประจักษ์ว่าเป็นสถาบันวิจัยและพัฒนาชั้นนำที่สร้างสรรค์องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ให้กับผลผลิตทางการเกษตรและชีวมวล ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย สู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ในปีที่ 31 นี้ สถาบัน KAPI ได้ก่อสร้างอาคารโรงงานการผลิตพืชขั้นสูงด้วยแสงเทียมเสร็จสมบูรณ์ โดยเป็นอาคารที่ได้นำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการควบคุมการเจริญเติบโตและการผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพของพืช ตลอดจนเทคโนโลยีการสกัดสารสำคัญ เพื่อให้ได้ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับระดับชาติและนานาชาติ นอกจากนี้ยังมีการบริการทางวิชาการ การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี รวมทั้งการขยายผลงานวิจัยและเทคโนโลยีสู่สังคมและเชิงพาณิชย์ และบูรณาการงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน ซึ่งเป็นการส่งเสริมภารกิจของมหาวิทยาลัย ในการผลักดันให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ วิจัย และสร้างนวัตกรรมระดับโลก เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของศาสตร์แห่งแผ่นดิน
ด้าน ดร.พิลาณี ไวถนอมสัตย์ ผู้อำนวยการสถาบัน KAPI กล่าวว่าสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ได้รับการจัดตั้งตามประกาศราชกิจจานุเบกษา มาตั้งแต่วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๓๔ โดยเป็นสถาบันด้านการวิจัยชั้นนำระดับนานาชาติ ที่สร้างสรรค์องค์ความรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ให้กับผลผลิตทางการเกษตรและชีวมวล ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย ทั้งยังได้ให้ความสำคัญกับกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ “สำนึกดี มุ่งมั่น สร้างสรรค์ สามัคคี”
สำหรับ อาคารโรงงานการผลิตพืชขั้นสูงด้วยแสงเทียม นั้น นับเป็นก้าวย่างสำคัญในปีที่ 31 ของสถาบัน KAPI ซึ่งนอกจากจะมีภารกิจหลักในการบริการงานวิจัยและตรวจวิเคราะห์เฉพาะทางด้วยเครื่องมือวิเคราะห์ขั้นสูง ภายใต้การควบคุมและดำเนินการโดยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ พร้อมในการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่มิใช่อาหาร (Non-food) เพื่อขยายผลงานวิจัยและเทคโนโลยีสู่สังคม และสนับสนุนการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้ว การเปิดอาคารโรงงานการผลิตพืชขั้นสูงด้วยแสงเทียมแห่งนี้ จะช่วยสร้างเสริมศักยภาพนวัตกรรมการวิจัยให้กับประเทศเพื่อการแข่งขันในระดับนานาชาติ อาคารโรงงานการผลิตพืชขั้นสูงด้วยแสงเทียม เป็นอาคาร 4 ชั้น ภายในอาคารประกอบด้วย
ชั้น 1 โรงงานสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในระดับนำร่อง
ให้บริการครบวงจรในการสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากพืชในระดับขยายกำลังการผลิต ตั้งแต่การให้บริการเครื่องสกัดร้อนขนาด 10 ลิตร เครื่องระเหยสารขนาด 20 ลิตร เพื่อระเหยแยกตัวทำละลายที่ใช้ในกระบวนการสกัดออก ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการทำแห้งใน 2 รูปแบบ ทั้งการทําแห้งแบบแช่เยือกแข็งภายใต้สภาวะสุญญากาศ (Freeze dryer) ขนาด 50 ลิตร และแบบอบแห้งพ่นฝอยด้วยลมร้อน (Spray dryer) ขนาด 10 ลิตร/ชม. ที่รองรับงานวิจัยและเทคโนโลยีขั้นสูงและการต่อยอดเชิงพาณิชย์
นอกจากนื้ ยังมี ห้องถังปฏิกรณ์ชีวภาพ ประกอบด้วยถังปฏิกรณ์ชีวภาพแบบกวนขนาด 70 ลิตร รวมไปถึงชุดควบคุมและอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการเพาะเลี้ยงเซลล์จุลินทรีย์ในอาหารเหลว (Submerged fermentation) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบัน KAPI และ มหาวิทยาลัย Universiti Sains Malaysia ประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันมีการใช้ถังปฏิกรณ์ชีวภาพดังกล่าวสำหรับงานวิจัยทางด้านการเพาะเลี้ยงแบคทีเรียเพื่อการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Polyhydroxyalkanoates (PHAs)
ชั้น 2 โรงงานผลิตพืชด้วยแสงเทียม
เป็นการผลิตพืชในระบบควบคุมสภาพเเวดล้อมตามปัจจัยที่พืชต้องการได้อย่างสมบูรณ์ โดยใช้เทคโนโลยีแสงเทียม ซึ่งไม่ขึ้นกับปัจจัยสภาพเเวดล้อมภายนอกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงสามารถควบคุมคุณภาพของผลผลิตพืชได้อย่างสม่ำเสมอตามต้องการ มีคุณภาพสูง และปลอดภัย นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ในการควบคุมการกระตุ้นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญในกลุ่มพืชสมุนไพร เป็นการรองรับการใช้สารสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์
โรงงานผลิตพืชด้วยแสงเทียมของสถาบัน KAPI มี 3 รูปแบบ ได้แก่
- โรงงานผลิตพืชด้วยแสงเทียมด้านการผลิตพืชอาหาร ได้แก่ การผลิตผักโภชนาการสูง โดยมีการศึกษาปัจจัยที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของผักสลัดไทย-ต่างประเทศ
- โรงงานผลิตพืชด้วยแสงเทียมด้านการผลิตพืชสมุนไพรไทย ได้แก่ การพัฒนารูปแบบการผลิตฟ้าทะลายโจรเพื่อให้ได้สารแอนโดรกราโฟไลด์สำหรับใช้ในทางการแพทย์
- โรงงานผลิตพืชด้วยแสงเทียมด้านพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง ได้แก่ การผลิตสารสำคัญ CBD จากกลุ่มพืชกัญชา-กัญชง เพื่อใช้ในทางการเเพทย์
ชั้น 3 ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีการผลิตพืช ให้บริการในการผลิตพืชพันธุ์ดีเชิงพาณิชย์ การเพิ่มจำนวนพืชปลอดเชื้อแก่เกษตรกรและบุคคลทั่วไป เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศ เสริมสร้างเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
และ ชั้น 4 พื้นที่สำหรับการศึกษาวิจัยและพัฒนาการใช้แสงเทียมในการอนุบาลกล้าไม้เศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อรวบรวมแม่พันธุ์ต้นไม้เศรษฐกิจและสร้างต้นกล้าที่สมบูรณ์ พร้อมในการปลูกในระดับอุตสาหกรรม
ผู้สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ สถาบันผลิตผลเกษตรฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 50 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร.02-942-8600-3 https://kapi.ku.ac.th www.facebook.com/kapi.kasetsart