สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จฯ ไปทรงปลูกต้นไม้ร่วมกับผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร
และ นิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ณ สวนสมรมคนกรุง @ทุ่งบางเขน สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม 2565 เวลา09.00น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โอกาสนี้ สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางวัฒน วรขัตติยราชนารี เฝ้าฯรับเสด็จ พร้อมด้วย ดร.กฤษณพงษ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กอบศักดิ์ วันธงไชย คณบดีคณะวนศาสตร์ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรและนิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 250 คน
ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จ เจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางวัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงปลูกต้นไม้เนื่องในเทศกาลวันเข้าพรรษา ปี 2565 ร่วมกับคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ สวนสมรม (อ่านว่า สม-รม) คนกรุง @ทุ่งบางเขน สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 5 ต้น โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกต้นทุเรียน (Durio zibethinus Murr) ร่วมกับ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ และ สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางวัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงปลูกต้นมะกอกน้ำ (Elaeocarpus hygrophilus Kurz.) ร่วมกับอธิการบดีและคณะผู้บริหาร จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกต้นชะมวง (Garcinia cowa Roxb.) ร่วมกับอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสำนัก สถาบัน ทรงปลูกต้นมะดัน (Garcinia schomburgkiana Pierre) ร่วมกับคณบดีคณะวนศาสตร์ และ ทรงปลูกต้นมะตาด (Dillenia indica Linn) ร่วมกับนายกสโมสรนิสิตคณะวนศาสตร์
สวนสมรม (อ่านว่า สม – รม) คนกรุง @ทุ่งบางเขน เป็นการใช้พื้นที่ขนาดเล็กเพื่อปลูกพืชชนิดกินได้ (edible species) หลากหลายระดับชั้น ผสมผสานกันหลากหลายชนิด เพื่อเป็นแหล่งอาหารสำหรับผู้อาศัยในเขตเมืองที่สนใจปลูกต้นไม้เพื่อนำส่วน หัว ลำต้น ดอก ใบ และผลมาใช้บริโภคในครัวเรือน คำว่า สมรม เป็นภาษาถิ่นของภาคใต้ แปลว่า รวมผสมผสาน สวนสมรมจึงเป็นสวนขนาดเล็กที่ปลูกแบบผสมผสานของพืชชนิดกินได้นานาชนิด ไม่มีการแยกแปลงแยกชนิด ไม่ทำลายพืชดั้งเดิมที่มีอยู่ ทำให้พืชได้พึ่งพาอาศัยเกื้อกูลกันเองตามธรรมชาติ สวนแห่งนี้นอกจากช่วยเพิ่มความมั่นคงทางด้านอาหารแล้ว ต้นไม้ยังสร้างความร่มรื่นและช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และกรองฝุ่นละอองในเขตเมือง ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชไว้อีกด้วย โดยต้นไม้ 1 ต้น สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 9.5 กก.ต่อปี
สำหรับชนิดไม้ที่จะปลูกในสวนสมรมคนกรุง @ทุ่งบางเขน สวนต้นแบบแห่งใหม่ บนเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ซึ่งอยู่ภายในสำนักพิพิภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เน้นการปลูกประเภทพืชป่า (wild type) ดั้งเดิมกินได้ ที่พบขึ้นได้ในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง โดยชนิดไม้ที่รวบรวมนำมาปลูกมีทั้งไม้ยืนต้นและพืชล้มลุก เช่น มะกอกป่า มะหวด มะปริง มะแฟน มะไฟป่า ตะลิงปลิง มะม่วงป่า มะขามป้อม อินจัน มะขวิด กระวาน เร่ว ผักกูด ดีปลี ไพล ขมิ้น กระชาย ฯลฯ รวมกว่า 30 ชนิด ซึ่งระยะต่อไปจะได้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้านการให้น้ำและปุ๋ยด้วยระบบดิจิทัลมาใช้ในการจัดการสวนแห่งนี้เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางด้านการเกษตรอัจฉริยะต่อไป
โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตร นิทรรศการวิชาการ ด้านต่าง ๆ จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่
- ศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านนกแอ่นกินรัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งอยู่ที่ สถานีวิจัยและฝึกนิสิตวนศาสตร์หาดวนกร ตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาวิจัยด้านนกแอ่นกินรัง และพัฒนาเป็นอาคารต้นแบบในการจัดการการทำบ้านนกแอ่นกินรังภายใต้แนวทางการปฏิบัติที่ดี พร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดความรู้ การฝึกอบรม และการศึกษาดูงานแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้สนใจโดยทั่วไป รวมถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมปศุสัตว์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ร่วมกันพัฒนา มาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับบ้านนกแอ่นกินรังในอาคารส่วนบุคคล และแนวทางปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และนำมาสู่การพัฒนา “ข้อบังคับสำหรับการจัดการบ้านนกแอ่นกินรังตามการปฏิบัติที่ดีทางการเกษตร Regulations for Good Agricultural Practice of Swiftlet House” ภายใต้มาตรฐานการเกษตร KU Standard รวมทั้งดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการเกษตรแม่นยำสำหรับบ้านนกแอ่นกินรัง เพื่อช่วยในเรื่องของการลดปัจจัยการผลิต ลดการรบกวนการทำรังวางไข่ของนกแอ่นกินรังภายในอาคาร และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการบ้านนกนอกเขตเมืองที่เกษตรกรหรือผู้เป็นเจ้าของบ้านนกไม่สามารถเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นประจำ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบในรูปแบบต่างๆตามมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีของบ้านนกแอ่นกินรัง ภายใต้ Brand ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อส่งเสริมยกระดับสินค้าท้องถิ่น ผลักดันให้นกแอ่นกินรังเป็นสัตว์เศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
(ถวายรายงานโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.แสงสรรค์ ภูมิสถาน รองหัวหน้าภาควิชาอนุรักษวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
- โครงการส่งเสริมและพัฒนาการพูด อ่าน เขียนภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสภากาชาดไทย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีจัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาการพูด อ่าน เขียนภาษาไทย โดยพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ซึ่งเป็นสื่อเสริมทางเลือกให้แก่ครูผู้สอนภาษาไทยนำไปใช้พัฒนานักเรียน 5 รูปแบบ ได้แก่
1. ชุดฝึกการแก้ปัญหาการอ่านและการเขียนภาษาไทยของเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร โดยใช้เทคนิค Scaffolding จำนวน 13 ชุดฝึก
2. คลังวีดิทัศน์ให้ความรู้แก่ครูผู้สอนระดับประถมศึกษาในการใช้ชุดฝึกการแก้ปัญหาการอ่านและการเขียนภาษาไทย โดยใช้เทคนิคสแกฟโฟลดิง (Scaffolding)
3. คลังทรัพยากรการศึกษา “เกษตรศาสตร์ปลูกภาษา พัฒนาอ่านเขียน” เป็นการพัฒนาและรวบรวม เกม นิทาน สื่อการเรียนการสอน ฯลฯ สำหรับครูผู้สอนระดับประถมศึกษาในการแก้ปัญหาการอ่านและการเขียนภาษาไทยของเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร
4.ชุดฝึกอ่านเขียนเรียนภาษาไทยเพื่อให้ผู้สอนที่เป็นบุคคลทั่วไปหรืออาสาสมัครที่สื่อสารภาษาไทยได้สามารถนำไปใช้ในการสอนภาษาไทยสำหรับเด็กทั่วไป หรือเด็กที่อยู่ในบริบทพื้นที่ห่างไกล
5.คลินิกภาษาไทย โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาในรูปแบบ Online หรือ On-site กับครูผู้สอนภาษาไทยในบริบทพื้นที่ในถิ่นทุรกันดาร
ทั้งนี้ โครงการได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนในโครงการพระราชดำริ และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในถิ่นทุรกันดาร เพื่อนำปัญหามาออกแบบสื่อการเรียนรู้และติดตามการพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทยของนักเรียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี
(ถวายรายงานโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อุดมลักษม์ กูลศรีโรจน์ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
- โครงการขยายผลการดำเนินงานเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้โดยเครือข่ายครูมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ) เพื่อเสริมความเข้มแข็งทางวิชาการตามความเชี่ยวชาญและความสนใจของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ครูรางวัลคุณากร ครูรางวัลยิ่งคุณ และครูรางวัลขวัญศิษย์ ทั้งแต่รุ่นที่ ๑ ถึงรุ่นที่ ๔ จำนวนรวมทั้งสิ้น ๖๒๘ คน ผ่านกระบวนการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย ๑๑ เครือข่าย โดยใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ของคณาจารย์ ในสังกัดคณะต่างๆ ที่สอดคล้อง ตลอดจนใช้ประโยชน์ของศูนย์ สถานีวิจัยต่างๆของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอด อบรม แลกเปลี่ยน และสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมพัฒนาเพื่อนครู พัฒนาเด็กและเยาชน พัฒนาชุมชน ผ่านเครือข่ายครูในแต่ละด้าน อีกทั้งมีการถอดบทเรียนความสำเร็จของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการขยายผลสู่ครูคนอื่นๆอีกจำนวนมาก อันจะส่งผลต่อคุณภาพครูในวงกว้างและโอกาสทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทย
(ถวายรายงานโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. คงศักดิ์ เที่ยงธรรม คณบดีคณะ
สัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้ประสานงานโครงการฯ)
- โครงการสนับสนุนงานในโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (การพัฒนาศักยภาพการปลูกเลี้ยงวานิลลาในประเทศไทย) โดย ศูนย์นานาชาติสิรินธร เพื่อการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยี ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ห้องปฏิบัติการสรีรวิทยาไม้ดอกไม้ประดับสวนกล้วยไม้ระพี สาคริก
สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มอบหมายให้ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร โดย รศ.พัชรียา บุญกอแก้ว เป็นหัวหน้าโครงการ รับสนองงานพระราชดำริฯ ในการศึกษาวิจัยวานิลลา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 โดยเริ่มจากการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนต้น และปลูกทดสอบในโรงเรือนของภาควิชาพืชสวน พบว่า วานิลลาพันธุ์ตาฮิติ พันธุ์ฮาปาเป้ และพันธุ์ปอมโปน่าสามารถออกดอกและให้ผลผลิตได้ ดังนั้นจึงนำมาขยายพันธุ์ในสภาพปลอดเชื้อโดยศึกษาหาเทคนิคที่เหมาะสม และนำต้นอ่อนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ปลูกทดสอบที่สวนกล้วยไม้สกุลหวายเชิงการค้า อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ในปี พ.ศ. 2561 และทั้งสามพันธุ์เริ่มออกดอกในปี พ.ศ.2563 ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2564 รศ.พัชรียา บุญกอแก้ว และคณะผู้วิจัย ได้ขอรับการสนับสนุนทุนวิจัยจากศูนย์นานาชาติสิรินธรเพื่อการวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุดเด่นของงานวิจัยนี้ คือการคัดเลือกพันธุ์ และขยายพันธุ์ด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และปลูกทดสอบจนได้พันธุ์ที่สามารถปลูกเลี้ยงได้ผลผลิตในเขตภาคกลาง ปกติการผลิตวานิลลาในประเทศไทยจะใช้พันธุ์แพลนนิฟลอเลีย ซึ่งต้องอาศัยความหนาวเย็นในการออกดอก หรือควรปลูกในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลอย่างน้อยประมาณ 400 เมตร จึงจะออกดอกได้ดี และผลผลิตมีคุณภาพ นับเป็นการส่งเสริมให้ เกษตรกรชาวสวนกล้วยไม้ ผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ ผู้ประกอบการกล้วยไม้ เกษตรกร และผู้สนใจในเขตภาคกลาง ได้ปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ สร้างรายได้มูลค่าสูง ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ตลอดจนสามารถต่อยอดงานวิจัยสู่ชุมชนที่มีรายได้น้อยในเขตพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย ได้แก่ หมู่บ้านก้อ ตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน โดยโครงการมีเป้าหมายถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการขยายพันธุ์และการปลูกเลี้ยงวานิลลาในเชิงการค้า ภายใน 4 ปี (พ.ศ.2564 – 2567)
วานิลลา (Vanilla) เป็นพืชเถาเลื้อยจัดอยู่ในวงศ์กล้วยไม้ (Orchidaceae) มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโก และอเมริกากลาง สกุลวานิลลาประกอบด้วย 110 ชนิด แต่มีเพียง 15 ชนิด ที่ฝักมีกลิ่นหอม พันธุ์ที่นิยมปลูกทั่วโลก มี 3 พันธุ์ คือ Vanilla planifolia, V. tahitensis และ V. pompona
(ถวายรายงานโดย รองศาสตราจารย์ ดร. พัชรียา บุญกอแก้ว หัวหน้าภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
จากนั้น ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ ร่วมกับคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โอกาสนี้ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรและนิสิตคณะวนศาสตร์จำนวน 250 คน ร่วมปลูกไม้ป่ายืนต้น 16 ชนิด จำนวน 38 ต้น อาทิ กระท้อน เงาะโรงเรียน มะตูม มะยม ขนุน หมากสง (หมากกินลูก) ผักเหลียง และไม้พื้นล่าง 10 ชนิด จำนวน 420 ต้น ได้แก่ เร่วหอม ผักกูด ดีปลี ขมิ้น กระชาย ชะพลู พริกไทย ขิง ข่า กะลา
ข่าวโดย นางผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ /หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์