ความรู้เคียงคู่ 6 องค์ประกอบสู่ความสำเร็จงานพัฒนา
ผู้อำนวยการ บพท. ถอดสมการความสำเร็จของงานพัฒนาด้วยความรู้จากงานวิจัย ต้องยึดโยงกับองค์ประกอบ 6 ประการคือ โครงสร้างระบบงบประมาณ โครงการกำลังคน เครือข่ายชุมชน โครงสร้างระบบบริหารภาครัฐ การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ หรือแกนนำชาวบ้าน และการสื่อสารชุดความรู้จากงานนวัตกรรมให้รับรู้กันอย่างทั่วถึง
นายกิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวแสดงปาฐกถาในงานเสวนา”บทบาทสื่อมวลชน กับการสืบสาน รักษา และต่อยอด งานพัฒนาด้วยความรู้จากงานวิจัยระดับพื้นที่” ซึ่งสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับชมรมสื่อมวลชนเพื่อการพัฒนาชนบท และมูลนิธิปัญญาวุฒิจัดขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยได้เน้นย้ำถึงคุณค่าและความสำคัญของการสะสมองค์ความรู้จากงานวิจัยตามบริบทของพื้นที่ ในการขับเคลื่อนงานพัฒนาในแต่ละพื้นที่
“ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นต้นแบบของการใช้ความรู้จากงานวิจัย เป็นปัจจัยสำคัญของการดำเนินโครงการพัฒนา โดยพระองค์จะทรงศึกษาค้นคว้าวิจัยและทดลองด้วยพระองค์เองจนแน่ใจในผลลัพธ์ ก่อนที่จะพระราขทานให้หน่วยราขการ หรือประชาชนนำไปใช้ประโยชน์”
นายกิตติ กล่าวด้วยว่า กระบวนการความรู้จากงานวิจัยระดับพื้นที่จะทำให้เกิดพลังของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดุลยภาพ ใหม่ที่ดีขึ้นในพื้นที่ และก้าวข้ามการพัฒนาบนฐานทรัพยากร ซึ่งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไปสู่การพัฒนาบนฐานความรู้ ด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ โดยต้องเชื่อมโยงกับองค์ประกอบสำคัญอีก 6 ประการได้แก่ 1).โครงสร้างระบบงบประมาณ 2).โครงการกำลังคน 3).เครือข่ายชุมชน 4).โครงสร้างระบบบริหารภาครัฐ 5).การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ หรือแกนนำชาวบ้าน และ 6).การสื่อสารชุดความรู้จากงานนวัตกรรมให้รับรู้กันอย่างทั่วถึง
โอกาสนี้ ผู้อำนวยการ บพท. ยังกล่าวถึงขอบเขตงานภายใต้ความรับผิดชอบของ บพท.ด้วยว่าประกอบด้วยยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จ และแม่นยำ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการพัฒนาคน และกลไกจากฐานทุนทรัพยากรพื้นถิ่น และทุนวัฒนธรรม รวมทั้งยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองน่าอยู่ และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ
“ประเด็นการขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ เรามุ่งตอบโจทย์สำคัญ 3 ประการคือคนจนอยู่ไหน-อะไรคือเหตุแห่งความจน-ทำอย่างไรจึงจะหลุดพ้นจากความจน ซึ่งกลไกกระบวนการขจัดความยากจน จะถูกออกแบบให้เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการพัฒนาคน และกลไกจากฐานทุนทรัพยากรพื้นถิ่น และทุนวัฒนธรรม รวมทั้งยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองน่าอยู่ และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ ทั้งนี้เพื่อทำให้คนจนมีที่ยืนในโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน หรือห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งจะส่งผลให้คนจนหลุดพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืน”