“มนัญญา” ผลักดันอ.ส.ค.
ปักธงนมไทย-เดนมาร์คในจีนฉลุย
“มนัญญา”ผลักดันอ.ส.ค.ปักธง “นมไทย-เดนมาร์ค”ในตลาดจีนสำเร็จนำร่องเจาะตลาดมณฑลยูนนานวางเป้าทำยอดช่วงทดลองตลาดกว่า350 กว่าล้าน/ปี พร้อมเล็งยึดหัวหาดตลาดAEC วางเป้าทำยอดขาย1พันล้าน /ปี
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังจากได้เดินทางไปศึกษาและสำรวจตลาดผลิตภัณฑ์นม ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อหาลู่ทางในการขยายตลาดผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คในตลาดต่างประเทศให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ล่าสุดสามารถผลักดัน อ.ส.ค.ให้สามารถปักธงผลิตภัณฑ์นม ยูเอชที ไทย-เดนมาร์คในตลาดสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผลสำเร็จ โดยได้ส่งออกล็อตแรกเมื่อเดือนเมษายน2565ที่ผ่านมา โดยใช้โรงงานนมปราณบุรี(จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) เป็นฐานการผลิตและได้แต่งตั้งบริษัท สยามเทรดดิ้ง เซ็นเตอร์ จำกัดเป็นตัวแทนจำหน่ายและกระจายสินค้าในตลาดจีนในพื้นที่มณฑลยูนนานก่อนจะขยายฐานตลาดมณฑลอื่นๆเพิ่มเติม อาทิ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กว่างโจว เสิ่นเจิ้นและเฉิงตู แม้ครั้งนี้ยังส่งออกในปริมาณที่ไม่มากเนื่องจากเป็นช่วงเข้าไปศึกษาตลาดและทดลองระบบการขนส่งแต่ในอนาคตมีแผนส่งออกในช่วงระยะเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณปีละ1.2ล้านหีบ หรือประมาณ357ล้านบาท/ปีโดยมุ่งเจาะกลุ่มตลาดร้านสะดวกซื้อ(Convenience Store) เนื่องจากผู้บริโภคเข้าถึงง่าย
ทั้งนี้ ปัจจุบันจีนถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก มีนักลงทุนจากทั่วโลกต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูงและมีสัดส่วนประชากรค่อนข้างมากหากการส่งออกผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คเข้าไปปักธงครั้งแรก จึงถือเป็นมิติที่สำคัญของอ.ส.ค.ในการขยายตลาดส่งออกให้กว้างขวางขึ้น เพื่อจะช่วยรองรับการเติบโตน้ำนมดิบของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไทยได้อย่างยั่งยืนในอนาคตอีกทางหนึ่งด้วย
ด้านนายสมพร ศรีเมือง ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อ.ส.ค.) ผู้ผลิตและจำหน่ายนมไทย-เดนมาร์ค กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจาก อ.ส.ค.สามารถเข้าไปบุกเบิกตลาดจีนเป็นผลสำเร็จแล้วอ.ส.ค.ยังมีแผนที่จะเข้าไปเจาะตลาดในต่างประเทศเพิ่มเติมอีกหลายประเทศ อาทิ ไต้หวัน ฮ่องกงและเวียดนามอีกด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาและพิจารณาแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย โดยวางเป้าหมายยอดจำหน่ายตลาดต่างประเทศในปีนี้ไว้ที่ 1,000 ล้านบาท อีกทั้งยังมีแผนที่จะเข้าไปทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียนควบคู่กันอีกด้วย ขณะนี้ อ.ส.คได้ติดตั้งเครื่องบรรจุผลิตภัณฑ์นม ยูเอชที (UHT) แบบไฮสปีด (High Speed) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค อีก 2 แห่งคือ โรงงานนมปราณบุรีและโรงงานนมขอนแก่น เพื่อเป็นฐานการผลิตรองรับการแข่งขันทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ
“สำหรับผลดำเนินการผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คในตลาดต่างประเทศในช่วงสองปีที่ผ่านมายอมรับว่ายอดจำหน่ายลดลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยยอดจำหน่ายในตลาดต่างประเทศปี 2564 ที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 960 ล้าน แบ่งเป็นประเทศลาว 240 ล้านบาทและประเทศประเทศกัมพูชา 720 ล้านบาทส่วนเป้าหมายตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศเออีซีในปี 2565 วางไว้ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท” นายสมพร กล่าว