สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติจัดประชุมโครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 65 เวลา 09.00 น. นายวุฒิชัย เสาวโกมุท รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนและประชาชน ร่วมประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 2 โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียง ในพื้นที่ศึกษา 6 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดเลยจังหวัดอุดรธานีจังหวัดบึงกาฬจังหวัดนครพนมจังหวัดมุกดาหารและจังหวัดสกลนคร โดยจะทำการเก็บข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องศึกษาวิเคราะห์วางแผนและกำหนดกิจกรรมต่างๆให้มีความเหมาะสมเพื่อจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำโขงออกเฉียงเหนือเพื่อให้ข้อมูลผังเมืองลุ่มน้ำตะวันออกเฉียงเหนือประกอบการพิจารณาการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อยู่ในระบบทางน้ำรวมถึงการจัดทำแผนปรับปรุงฟื้นฟูทางน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่เชื่อมโยงกลับทางน้ำสายหลัก ณ ห้องดุสิตา (ชั้น 2) โรงแรมมุกดาหารแกรนด์ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ระบบ ZOOM
นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. 2561 กำหนดให้ สทนช. ทำในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำ (กนช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานให้เป็นจัดทำผังน้ำภายใน 2 ปี นับแต่ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำมีผลบังคับใช้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อนำข้อมูลผังน้ำ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือมาประกอบการพิจารณาการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อยู่ในระบบทางน้ำ เพื่อจัดทำแผนปรับปรุงฟื้นฟูทางน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับทางน้ำสายหลัก เพื่อจัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือทั้งฤดูน้ำหลากและฤดูแล้ง เพื่อเป็นมาตรฐานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลจากการศึกษาไปใช้อย่างสอดคล้องและเชื่อมโยงกัน
นายวุฒิชัย เสาวโกมุท รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า พื้นที่บริเวณลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งประกอบด้วย 15 จังหวัด ในภาคอีสานตอนบน และบางส่วนของภาคอีสานตอนล่างที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมหลากและภัยแล้วอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องจากปัจจัยหลายอย่างได้แก่ แหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ไม่เพียงพอ การบุกรุกแหล่งน้ำสาธารณะ ตลอดจนความสามารถในการระบายน้ำของลำน้ำมีจำกัด จากการบุกรุกพื้นที่ชุมชน และการตื้นเขินจากการตกตะกอนในลำน้ำ โดยปัญหาต่างๆ มีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เมื่อทำการศึกษาและจัดทำผังน้ำแล้วเสร็จ จะสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางการบริหารจัดการน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเป็นระบบทั้งฤดูน้ำหลากและฤดูแล้ง ซึ่งจะเป็นมาตรฐานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลการศึกษาไปใช้ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องเชื่อมโยงกัน เพื่อให้เกิดแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านน้ำ ทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งในพื้นที่ โดยการจัดทำผังน้ำอย่างเป็นระบบ อันจะนำไปสู่ความกินดีอยู่ดีของทุกท่านและลูกหลานในอนาคตต่อไป
ไกรสมุทร นามโพธิ์ไทร /รายงานจากมุกดาหาร