สทนช.ติดตามมาตรการรับมือแล้ง จ.ลำปาง
เร่งจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำวัง หวังเป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ
สทนช. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนกิ่วลม-เขื่อนกิ่วคอหมา ตาม 9 มาตรการรับฤดูแล้ง ปี 64/65 เดินหน้าจัดหาแหล่งน้ำสำรองไว้รองรับน้ำหลากเพื่อใช้แล้งหน้า พร้อมเร่งจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำวัง หวังใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ป้องกันอุทกภัย-ภัยแล้งอย่างยั่งยืน
นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยในโอกาสลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการศึกษาจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน พื้นที่ลุ่มน้ำวัง และการบริหารจัดการน้ำตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/2565 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2565 ระหว่างวันที่ 19-20 เม.ย. 65 ในพื้นที่ลุ่มน้ำวัง จ.ลำปาง ว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของลุ่มน้ำวังอยู่ใน จ.ลำปาง มีเขื่อนขนาดใหญ่ที่สำคัญคือ เขื่อนกิ่วคอหมาและเขื่อนกิ่วลม ความจุรวม 276 ล้าน ลบ.ม. (ลูกบาศก์เมตร) สำหรับใช้เพื่ออุปโภคบริโภค การเกษตร และอุตสาหกรรม รวมทั้งใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำที่เขื่อนกิ่วคอหมา ส่วนเขื่อนขนาดกลาง มีความจุรวม 313 ล้าน ลบ.ม. แต่พื้นที่ลุ่มน้ำวัง มักประสบปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งเป็นประจำ เนื่องจากขนาดลำน้ำแคบ ทำให้น้ำไหลไม่สะดวก อีกทั้งมีการรุกล้ำการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณทั้งสองฝั่งลำน้ำ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการไหลของน้ำในฤดูน้ำหลาก รวมทั้งไม่สามารถทำการเก็บกักน้ำหลากไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้งได้อย่างเต็มศักยภาพ จากการศึกษา พบว่า ลุ่มน้ำวัง มีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 182,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 2.70 ของพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งรุนแรง ได้แก่ บริเวณ ต.บ้านเสด็จ อ.เมืองลำปาง และ ต.แม่ทะ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ดังนั้น สทนช.จึงต้องเร่งดำเนินโครงการศึกษาจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำวัง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการวิเคราะห์สภาพน้ำท่วมในเงื่อนไขต่างๆ เพื่อนำผลที่ได้ไปกำหนดรหัสโซนและเสนอแนะการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสมกับรหัสโซน
สำหรับการจัดทำผังน้ำ เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสนับสนุนแผนป้องกันแก้ไขสภาวะภัยแล้งและอุทกภัย บ่งชี้พื้นที่เก็บน้ำเมื่อคราวน้ำน้อยได้อย่างชัดเจน หรือเมื่อยามน้ำหลากสามารถชี้เส้นทางได้ว่าควรจะระบายน้ำออกในทิศทางใด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ รักษาคุณภาพน้ำ และไม่ทำให้เกิดการรุกล้ำทางน้ำ นอกจากนี้ ผังน้ำยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยตัดสินใจในการสร้างที่อยู่อาศัย โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ว่าจะอยู่ในพื้นที่น้ำหลากหรือไม่ หรืออยู่ในพื้นที่กีดขวางทางระบายหรือไม่ รวมถึงควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในขอบเขตพื้นที่ตามระบบทางน้ำที่ได้กำหนดแนวเขตไว้ โดยผังน้ำจะกำหนดขอบเขตชัดเจนว่า บริเวณใดเป็นพื้นที่สงวนไว้ให้ทางน้ำโดยเฉพาะ โดยไม่มีสิ่งกีดขวางตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการติดตามความก้าวหน้าการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำวังแล้ว ยังได้ติดตามการบริหารจัดการน้ำเขื่อนกิ่วลม-เขื่อนกิ่วคอหมา ตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/2565 ด้านความต้องการใช้น้ำ (DEMAND) มาตรการที่ 4 : กำหนดการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ซึ่งเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนปี 2564 ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนกิ่วลมและกิ่วคอหมา จะมีปริมาณน้ำรวมกันอยู่ที่ 174 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ซึ่งกรมชลประทานได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงวันที่ 1 ธ.ค.64 ถึง 30 เม.ย.65 โดยจัดสรรน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค 11.74 ล้าน ลบ.ม. เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 34,438 ไร่ รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ อีก 18.27 ล้าน ลบ.ม. มั่นใจจะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ตามแผนที่วางไว้ ตามนโยบายของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
“นอกจากนี้ พบว่ามีการพัฒนาขุมเหมืองร้างในพื้นที่เหมืองถ่านหินลิกไนต์แม่ทาน อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ของ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด (SCG) โดยสูบน้ำจากขุมเหมืองด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ วันละประมาณ 1,000 ลบ.ม. หรือ 1 ล้านลิตร เพื่อช่วยเหลือประชาชนใน ต.สันดอนแก้ว และ ต.ใกล้เคียง ซึ่งน้ำในขุมเหมืองนี้มีคุณภาพอยู่ในเกรดมาตรฐาน ที่สามารถนำมาอุปโภคได้ สอดคล้องกับมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/2565 มาตรการที่ 2 : จัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดย จ.ลำปาง จะนำโมเดลของขุมเหมืองแม่ทานไปพัฒนาอีก 10 ขุมเหมืองในพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ประโยชน์ในการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งหน้า อีกทั้งยังสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดใช้กับขุมเหมืองอื่นๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศได้อีกด้วย” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย