วช. หนุนสร้าง “เกมเดอะเวิร์ส” ส่งออกความเป็นไทยสู่ตลาดโลก
โดย ม.ศิลปากรจับมืออุตสาหกรรมเกม พร้อมปันประสบการณ์ทำงานจริงสู่ นศ.
ม.ศิลปากรผนึกอุตสาหกรรมเกม เดินหน้าบูรณาการเทคโนฯ พร้อมด้วยศาสตร์และศิลป์ พัฒนาเกมเดอะเวิร์ส ส่งออกความเป็นไทยสู่ตลาดโลก สร้างความเข็มแข็งให้อุตสาหกรรมฯ พร้อมพัฒนาบัณฑิตเรียนรู้กระบวนการทำงานจริงกับมืออาชีพ ล่าสุดได้พัฒนาเกมเดอะเวิร์ส (THE VERSE) ที่สอดแทรกความรู้ด้านประวัติศาสตร์และวรรณคดีไทยในรูปแบบเกมสําหรับคนยุคดิจิทัล ซึ่งจัดทำขึ้นโดย “ธัชชา” ภายใต้โครงการวิจัย อว. พารู้ พารัก รากเหง้าแผ่นดินไทย โครงการจัดทำชุดสารคดี เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านประวัติศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ เพื่อปวงชนชาวไทยสนับสนุนทุนวิจัยโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีทำงานแบบบูรณาการของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) กับคณะต่างๆ รวมทั้งบุคลากรในวงการอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ มาร่วมเป็นคณะทำงานพัฒนาเกม โดยวางแนวเกมเป็น Puzzle Adventure เนื้อเรื่องมีความท้าทาย เรื่องราวของชายหนุ่ม “วี” ผู้ได้รับการคัดเลือก ให้เดินทางออกผจญภัยในโลกที่ถูกสร้างจากคำกลอนที่กำลังแตกสลาย โดยในเกมได้ดึงตัวละครจากวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีมาเดินเรื่อง อาทิ นางเงือก ผีเสื้อสมุทร ร่างทรงชีเปลือย ฯลฯ ให้ผู้เล่น (ตัวละครชายหนุ่มชื่อวี) ต้องตามหาสมุดคำกลอน เข้าไปพิชิตแต่ละด่านเพื่อไม่ให้ตัวละครต่างๆ ที่อยู่ในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีเป็นเพียงตัวอักษรในโลกที่ไร้ซึ่งคำกลอน
ทั้งนี้ เดอะเวิร์ส จึงเป็นเกมได้สอดแทรกความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ผ่านมิติที่เกี่ยวข้องกับวีรบุรุษวัฒนธรรม (Culture Hero) รวมถึงผลงานชิ้นเอกทั้งนิราศและวรรณคดีของจินตกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มาดําเนินเรื่องราวในเกมสําหรับคนรุ่นใหม่ ที่สำคัญโครงการฯ นี้นับเป็นการดําเนินงานระหว่างภาคการศึกษาและบุคลากรผู้มีประสบการณ์จากอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ ในการการพัฒนาเกมขนาดใหญ่ที่ครบวงจร ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของอุตสาหกรรมเกมและยังเป็นการขับเคลื่อนและปลุกกระแสให้เกิดเป็น Soft Power ในกลุ่มคนรุ่นใหม่และผลักดันการส่งออกความเป็นไทยสู่ตลาดโลก ทั้งนี้ยังเป็นการมอบโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้และปฏิบัติจริงในกระบวนการสร้างเกม ตั้งแต่ต้นจนจบ กรณีศึกษาครั้งนี้มีกระบวนการที่ครบวงจรและมีขนาดใหญ่ โดยทางมหาวิทยาลัยฯ ได้เกี่ยวเก็บข้อมูลในเรื่องการทําเกมครั้งนี้เป็นองค์ความรู้ (knowledge) และความเชื่อมโยงของกระบวนการทําเกม เป็นต้นแบบให้นักศึกษาที่เรียนในสาขานี้ได้เรียนรู้จริงกับมืออาชีพในอุตสาหกรรมเกม
“ในส่วนของกระบวนการทำงานของโครงการพัฒนาเกมเดอะเวิร์ส (THE VERSE) เริ่มต้นจากโจทย์ที่ว่าต้องการให้เยาวชนรู้เรื่องวัฒนธรรมไทย รู้เรื่องความเป็นไทยมากขึ้น โดยทาง ม.ศิลปากร มอบหมายให้คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอซีที เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งคณะไอซีทีนับเป็นอัตตลักษณ์สำคัญของมหาวิทยาลัยศิลปากรด้านการบูรณาการข้ามศาสตร์และประยุกต์กับโลกดิจิทัลได้อย่างลงตัว สอดคล้องกับความต้องการด้านทักษะความรู้ที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันนักศึกษาเรียนรู้กระบวนการและทักษะใหม่ๆ ซึ่งทำให้นักศึกษาได้นำความรู้ไปใช้ในการทำงานจริงในอนาคต ทั้งนี้ การพัฒนาเกมเดอะเวิร์ส ไอซีที มีการทำงานร่วมกับคณะโบราณคดี คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ดุริยางคศาสตร์ พร้อมศิษย์เก่าคณะศึกษาศาสตร์ที่อยู่ในแวดวงคนเขียนบทอยู่แล้ว มาช่วยในส่วนของการสร้างสรรค์เรื่องราวในเกม โดยเปิดให้นักศึกษาเข้าร่วมในส่วนของการออกแบบ การทำโมเดล ทั้งมหาวิทยาลัยฯ และนักศึกษา จะได้เข้าไปเรียนรู้ ไปมีส่วนร่วม เห็นวิธีการทำงาน เห็น pipeline ของกระบวนการทำเกมขนาดใหญ่ เป็นการนำทางนักศึกษาที่เรียนในสาขานี้ เข้าไปสู่วงการของมืออาชีพในอุตสาหกรรมเกม” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดี กล่าวเพิ่มเติม
พร้อมปิดท้ายด้วยมุมมองจากภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ ในส่วนเกมย้ำว่า ในปี 2564 มีมูลค่าตลาดเกมของประเทศไทยสูงถึง 34,000 ล้านบาท จากเดิมเคยคาดการณ์ตัวเลขไว้ที่ 30,000 ล้านบาท แนวโน้มความแรงของตลาดที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าจะยังเติบโตต่อเนื่อง แต่การแข่งขันก็มากขึ้นด้วย ซึ่งอุตสาหกรรมเกมในประเทศไทย ยังมีผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้ามาอยู่ในสนามแข่งขันไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ญี่ปุ่น จีน รวมถึงประเทศแถบตะวันตก ดังนั้นผู้พัฒนาเกมของไทย ก็ต้องทำเกมที่มีคุณภาพ รวมทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่ง เพื่อสามารถสร้างเกมออกไปแข่งกับเกมจากต่างประเทศได้
ผู้สนใจสามารถคลิ๊กชมทีเซอร์แนะนำเกม เดอะ เวิร์ส ได้ที่ https://youtu.be/o-b6VzWP0ms รวมถึงขอความร่วมมือจากผู้สนใจร่วมตอบแบบสอบถามเพื่อนำไปพัฒนาเกมเดอะเวิรส์ในลำดับต่อไปในลำดับต่อไป โดยผ่านทางลิงก์ t.ly/bIiE สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ictsilpakornverse@gmail.com พร้อมกับติดตามอัพเดตความเคลื่อนไหวได้ที่เฟซบุ๊ก : TheVerseGame และ Ictsilpakorn”